เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1680
วันที่: 22 กุมพาภัณฑ์ 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ยืมและดอกเบี้ย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), มาตรา 40(4)(ก), มาตรา 70
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการขายรถยนต์และอะไหล่ได้มีการกู้ยืมเงิน
จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ โดยบริษัทฯ
จะต้องจัดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ จึงจะได้รับการพิจารณาจาก
สถาบันการเงินให้บริษัทฯ กู้ยืม บริษัทฯ จึงติดต่อทำสัญญากับบริษัทแม่ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายญี่ปุ่น
ประกอบกิจการค้าทั่วไปและมิได้ประกอบกิจการในไทยให้เป็นผู้ค้ำประกัน โดยบริษัทแม่จะออกหนังสือ
ค้ำประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินที่บริษัทฯ กู้ยืมเงิน ซึ่งตามสัญญา
บริษัทฯ จะจ่ายค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันให้กับบริษัทแม่คิดเปอร์เซนต์จากยอดเงินกู้ ตาม
ระยะเวลาการกู้ยืม และถ้าบริษัทฯ ชำระเงินค่าธรรมเนียมล่าช้า บริษัทฯ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา
ร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดเงินค่าธรรมเนียมล่าช้าดังกล่าว นับจากวันถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียม
จนถึงวันที่บริษัทแม่ได้รับการชำระค่าธรรมเนียมเต็มจำนวน จึงหารือว่า
1. เงินค่าธรรมเนียมที่บริษัทฯ จ่ายให้บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตาม
มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว บริษัทฯ จึง
ไม่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
2. เงินค่าดอกเบี้ยจากการผิดนัดจ่ายค่าธรรมเนียม เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา
40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักภาษี
ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11 วรรค 2(ข) และวรรค 4 แห่งอนุสัญญา
ภาษีซ้อนฯ ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่ายใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตาม 1. และ 2. ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 64/30213

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020