เมนูปิด


          1. บริษัทฯ ได้ให้บริการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์แก่บริษัท ท. จำกัด (มหาชน)

รวมมูลค่า 48,606,832.19 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ 88,021,913.02 บาท ต่อมา บมจ. ท.

ไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวให้กับบริษัทฯ ได้ ในปี 2544 บริษัทฯ จึงได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับ บมจ. ท. ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยบริษัทฯ ตกลงแปลงหนี้ลูกหนี้การค้าเป็นเงินกู้และเงินลงทุน (หุ้น) พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของ บมจ. ท. ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับการผ่อนชำระหนี้จาก บมจ. ท. ตามระยะเวลาในสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดระยะเวลาชำระหนี้งวดสุดท้ายสิ้นสุดในปี 2560


          2. เนื่องจาก บมจ. ท. ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ จนถึงปี 2560 ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ของ บมจ. ท. ในขณะนั้นไม่แน่นอน ในปี 2545 บริษัทฯ จึงตกลงขายหนี้เงินกู้และเงินลงทุน (หุ้น) พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นของ บมจ. ท. ให้แก่บริษัท A ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ในราคาร้อยละ 33 ของราคาทุนและเป็นราคาที่ผู้ซื้อตกลงที่จะซื้อ เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการขายมาใช้ในกิจการและแก้ปัญหาภาวะการขาดสภาพคล่องของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ทราบว่า บริษัท A ได้ซื้อหนี้เงินกู้และเงินลงทุน พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิของบริษัทฯ จากบริษัทอื่นในราคาเดียวกับที่ซื้อจากบริษัทฯ จากผลการขายหนี้เงินกู้และเงินลงทุน พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิในอัตราร้อยละ 33 ของราคาทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,583,322,531 บาท และในปีเดียวกัน บริษัทฯ ได้รับการยกหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อสินค้านำเข้าจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ มีเงินได้จากการยกหนี้ให้ จำนวน 1,552,628,236 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้นำรายได้จากการยกหนี้ให้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว


          3. บริษัทฯ หารือว่า กรณีบริษัทฯ ขายหนี้เงินกู้และเงินลงทุน (หุ้น) และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญใน บมจ. ท. ในอัตราร้อยละ 33 ของราคาทุน ถือเป็นการขาย

ทรัพย์สินในราคาตลาดหรือไม่ และบริษัทฯ สามารถนำผลขาดทุนจากการขายหนี้เงินกู้และเงินลงทุน พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิ จำนวน 1,583,322,531 บาท มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร


          4. สำนักงานสรรพากรภาค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับ บมจ. ท. โดยแปลงลูกหนี้การค้าเป็นหนี้เงินกู้และเงินลงทุน พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของ บมจ. ท. ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ขายหนี้เงินกู้และเงินลงทุน พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ ในราคาร้อยละ 33 ของราคาทุน หากเป็นไปตามราคาตลาดที่กำหนดโดยสุจริตในทางการค้า ถึงแม้จะต่ำกว่าราคาทุน เจ้าพนักงานก็ไม่สามารถประเมินราคาขายเพิ่มขึ้นตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ได้

และผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธินำผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้


          5. บริษัทฯ ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้


               5.1 บริษัทฯ มีลูกหนี้การค้าของ บมจ. ท. ค้างชำระเป็นจำนวนเงิน 48,606,832.19 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ 88,021,913.02 บาท หลังจากที่บริษัทฯ ได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในปี 2544 บริษัทฯ ได้แปลงสภาพหนี้ทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืม 3 ประเภท ได้แก่ Trance A Trance B และ Trance C มูลค่ารวมทั้งสิ้น 55,637,747.50 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ117,438,934.55 บาท โดยเงินกู้ประเภทที่ 3 (Trance C) บมจ. ท. ตกลงแปลงหนี้เงินกู้เป็นจำนวน 3,112,393.83 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ 9,382,426.21 บาท เป็นทุน (หุ้นสามัญ) จำนวน 30,144,363 หุ้น พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 12,149,350 หุ้น


               5.2 ในวันที่ 3 กันยายน 2544 บมจ. ท. จ่ายชำระคืนเงินต้นบางส่วน จำนวน 638,218.06 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ 1,061,975.86 บาท พร้อมกับให้บริษัทฯ บันทึกดอกเบี้ยรับค้างจ่าย จำนวน 771,580.27 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ 822,980.99 บาท โดยดอกเบี้ยค้างจ่ายให้ไปรวมกับเงินกู้ประเภทที่ 3 (Trance C) ดังนั้น ยอดเงินกู้รวมทั้ง 3 ประเภท ที่ บมจ. ท. ต้องชำระมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 52,658,715.88 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ 107,817,513.47 บาท

ดังความละเอียดแจ้งอยู่แล้วนั้น

ดังนั้น ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลในการขายทรัพย์สินดังกล่าวแยกพิจารณาได้ดังนี้


          1. กรณีการขายหนี้เงินกู้ เนื่องจากหนี้เงินกู้ที่บริษัทฯ ถือไว้เป็นทรัพย์สินนั้นเป็นหนี้ที่แปรสภาพมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งแต่เดิมหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ทางการค้าของบริษัทฯ เอง โดยบริษัทฯ มิได้เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ดังกล่าวจากบุคคลอื่นมาเพื่อบริหารแต่อย่างใด และบริษัทฯ ได้นำหนี้ทางการค้ามาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้

นิติบุคคลแล้ว ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ต่อมาบริษัทฯ ได้ขายสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่บริษัทฯ มีต่อ บมจ. ท.

ให้แก่บริษัท A ในราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ให้กู้ยืม ส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่บริษัทฯ ได้จากการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ กับจำนวนเงินที่ให้ บมจ. ท. บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนขายหนี้เงินกู้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร


          2. กรณีการขายเงินลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ เนื่องจากเงินลงทุน (หุ้น) และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ท. เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทฯ ได้ขายหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญในอัตราร้อยละ 33 ของราคาทุน หากบริษัทฯ โอนขายหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญโดยมีค่าตอบแทนดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ขายหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิของ บมจ. ท. ให้แก่บริษัท A และเกิดผลขาดทุน ซึ่งผลขาดทุนดังกล่าวเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงมีสิทธินำผลขาดทุนจากการขายหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: กค 0706/415
วันที่: 18 มกราคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลขาดทุนจากการขายลูกหนี้เงินกู้และหลักทรัพย์
ประเด็นปัญหา: มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 65 ตรี(12)(13)
            ตามบันทึกที่สำนักงานสรรพากรภาค แจ้งว่า บริษัทฯ ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลขาดทุนจากการขายลูกหนี้เงินกู้และหลักทรัพย์ โดยปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ โอนขายหนี้เงินกู้ เงินลงทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของ บมจ. ท. ให้แก่บริษัท A ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ในราคาร้อยละ 33 ของราคาทุน เนื่องจากหนี้เงินกู้ เงินลงทุน (หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ เป็นการขายทรัพย์สินของบริษัทฯ
เลขตู้: 68/33283

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020