เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/512
วันที่: 20 มกราคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์
ประเด็นปัญหา: มาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี มาตรา 91/2(6) มาตรา 121
            วัด ตกลงรับค่าผาติกรรม รวม 22,740,000 บาท เป็นการตอบแทนในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัด ให้กระทรวง A โดยกรม B เพื่อดำเนินโครงการจัดสร้างพระราชอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 34 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์วัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดให้แก่กระทรวง A พ.ศ. 2546 แต่สำนักงานที่ดินจังหวัด C แจ้งว่าในการเปลี่ยนแปลงหลักฐานการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนเป็นเงิน 606,060 บาท
          ต่อมากรมที่ดินได้ตอบข้อหารือสำนักงาน D ความว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัด ให้แก่กระทรวง A โดยกรม B หากปรากฏว่าที่ธรณีสงฆ์ของวัด กระทรวง A โดยกรม B ได้ดำเนินการเวนคืนไม่ว่าโดยการซื้อขายหรือตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์ ตามมาตรา 11 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แต่การออกพระราชกฤษฎีกา โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์เป็นการโอนในกรณีอื่น หากไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมินและได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 อย่างไรก็ดีเพื่อป้องกันการผิดพลาดและเกิดความเสียหายขึ้นได้ ขอให้สำนักงาน D หารือกรมสรรพากรโดยตรง และแจ้งกรมที่ดินทราบด้วย
          สำนักงาน D เห็นว่า การโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร วัด จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่กรมที่ดินแจ้งให้ทราบถูกต้อง หรือไม่
แนววินิจฉัย          หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าวัดได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อวัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้แก่กระทรวง A โดยกรม B โดยได้รับค่าผาติกรรมเป็นการตอบแทน มีภาระภาษีดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล วัดไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามบทนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร วัดจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อกระทรวง A โดยกรม B จ่ายเงินค่าผาติกรรมให้แก่วัด ตามมาตรา 34 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ และได้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัด ให้แก่กระทรวง A พ.ศ. 2546 ผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่ง ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ วัดเป็นนิติบุคคล ตามาตรา 77/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร การโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัด ซึ่งเป็นสมบัติของวัด และเป็นสถานที่ทางศาสนา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ ให้แก่กระทรวง A โดยกรม B ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ เพื่อดำเนินโครงการจัดสร้างพระราชอุทยานเฉลิมพระเกียรติ โดยวัดได้รับเงินค่าผาติกรรมตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 วัดจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากรในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราร้อยละ 3.3 ของจำนวนเงินค่าผาติกรรม ตามมาตรา 91/6(3) และมาตรา 91/10 วรรคหก แห่งประมวลรัษฎากร 3 อากรแสตมป์ หลักฐานการรับเงินค่าผาติกรรมจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่เนื่องจากวัดวาอารามเป็นฝ่ายที่ต้องเสียอากร อากรจึงเป็นอันไม่ต้องเสีย ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33287

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020