เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5915
วันที่: 18 กรกฎาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าจ้างทำการวิจัย
ประเด็นปัญหา: มาตรา 40(1)(2)(8), มาตรา 50(1), มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.ฏ (ลงวันที่ 11) พ.ศ. 2502
           องค์การของรัฐได้ว่าจ้าง คณะบุคคล และบุคคล ทำการวิจัยด้านสาธารณสุข และงาน ที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนา ระบบหลักประกันสุขภาพของประชากรตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสัญญาจ้างระบุให้ผู้รับจ้างส่งรายงานผลการใช้จ่ายเงินหรือใบสำคัญค่าใช้จ่ายการวิจัยให้องค์การของรัฐ จึงขอทราบว่า กรณีต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าว ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นองค์การของรัฐมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ในอัตราใด และในกรณีผู้รับจ้างต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้จะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือมาตรา 40(2) หรือมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร หากต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร การหักค่าใช้จ่ายจะสามารถหักได้ในอัตราใด
แนววินิจฉัย          1. เงินค่าตอบแทนการวิจัยที่บุคคลธรรมดาได้รับตามข้อเท็จจริงข้างต้น จะถือเป็น เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) หรือมาตรา 40(2) หรือมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ดังนี้
              1.1 กรณีจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องปรากฏว่า คู่สัญญามีความประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กันอย่างนายจ้างกับลูกจ้าง
              1.2 กรณีผู้รับจ้างวิจัยได้ทำการวิจัย และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้าง เงินที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
              1.3 กรณีผู้รับจ้างได้ทำการวิจัยร่วมกับบุคคลอื่น หรือมีลูกจ้างหรือมีสำนักงาน และ มีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจำนวนมาก เงินได้ที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้ พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
          2. ผู้ว่าจ้างเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เข้าลักษณะเป็น “องค์การของรัฐบาล” ตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร หากตามสัญญาจ้างฯ ไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้าง ได้ทำงานร่วมกับบุคคลอื่นหรือมีลูกจ้างหรือมีสำนักงานและมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจำนวนมากแต่อย่างใด เงินที่ได้รับดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อองค์การของรัฐบาลผู้ว่าจ้างจ่ายค่าจ้างทำการวิจัยด้านสาธารณสุขและงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์ ให้ผู้รับจ้าง สปสช. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33492

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020