เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6924
วันที่: 18 สิงหาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ.ศ.2547
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 426) พ.ศ. 2547
ข้อหารือ

:            บริษัท ป. ได้หารือการได้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 ดังนี้
             1. คำจำกัดความของน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัทฯ สามารถยึดถือตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ . ศ . 2543 ได้หรือไม่
             2. รายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง
                  (1) การนำน้ำมันเข้ามาในเขตปลอดอากร (FZ) ถ้าจะได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 ควรจะมีเงื่อนไขอย่างไร
                 (2) คำจำกัดความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีขอบเขตอย่างไร
             3. การได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 ตามพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องทำเรื่องยื่นขอใช้สิทธิกับสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ทุกปีหรือไม่ จะต้องยื่นในช่วงใด และถ้ายื่นขอใช้สิทธิแล้วบริษัทฯ สามารถจะไม่ใช้สิทธิในปีนั้น ๆ ได้หรือไม่
             4. เมื่อบริษัทฯ ยื่นแบบ ป . ต .01 ขอใช้สิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 ในรอบบัญชีใดแล้ว
                 4.1 เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบครึ่งปี ( ภ . ง . ด .51) บริษัทฯ ยื่นแบบ 2 ฉบับ
                        (1) ฉบับที่ 1 เป็นการยื่นขอใช้สิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10
                        (2) ฉบับที่ 2 เป็นการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ อัตราร้อยละ 30 แต่พอสิ้นปียอดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขอใช้สิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 มี
ยอดรายได้น้อยกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 มาตรา 3 ดังนี้ จะถือว่า บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 หรือไม่ จะมีผลกระทบอย่างไรกับแบบแสดงรายการกลางปีที่ยื่นไปแล้วในอัตราร้อยละ 10
                 4.2 สืบเนื่องจากกรณี 4.1 เนื่องจากบริษัทฯ ไม่อาจคาดได้ว่ารายได้สิ้นปีจะเป็นไปตามเงื่อนไข คือ มีรายได้ครบสองพันล้านบาท การยื่นภาษีกลางปี ( ภ . ง . ด .51) หากบริษัทฯ จะยื่นแบบ
แสดงรายการภาษีเงินได้ 2 ชุด แต่เป็นอัตราร้อยละ 30 ทั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นการยอมเสียภาษีเงินไ ด ้
นิ ต ิบุคคลอัตราร้อยละ 30 ก่อนในส่วนที่ได้รับสิทธิ และเมื่อปลายปีบริษัทฯ มียอดเงินได้เป็นไปตาม
เงื่อนไข จะทำการยื่นแบบ ภ . ง . ด .50 ในส่วนที่ได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 โดยนำภาษียื่นไว้กลางปีในส่วนที่ได้รับสิทธิแต่ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ในอัตราร้อยละ 30 มาใช้เครดิต จะมีผลอย่างไรบ้าง
                 4.3 กรณีการใช้ผลขาดทุนสุทธิ
                       - ปีแรก บริษัทฯ ยื่นแบบขอใช้สิทธิลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ
                       - ปีที่สอง บริษัทฯ มิได้ขอใช้สิทธิลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และมิได้ยื่นแบบในอัตราร้อยละ 10
                       - ปีที่สาม บริษัทฯ ยื่นแบบขอใช้สิทธิลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีผลประกอบ การกำไร ดังนี้
บริษัทฯ สามารถนำผลขาดทุนในปีแรกมาหักเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ และหากบริษัทฯ
ต้องการนำผลขาดทุนปีแรกมาใช้บริษัทฯจะต้องปฏิบัติอย่างไร
              5. หากบริษัทฯ ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 แล้วมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเขตปลอดอากร (FZ) ดังต่อไปนี้ จะเป็นเงินได้ที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
                  กรณีที่ 1 บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกรรมอยู่ใน FZ นำน้ำมันจากต่างประเทศเข้าไปใน FZ ปริมาณ 1,000,000 BBL และนำน้ำมันจากในประเทศเข้าไปใน FZ ปริมาณ 500,000 BBL เมื่อผสมแล้วมีปริมาณ 1,500,000 BBL และส่งออกน้ำมันดังกล่าวไปขายต่างประเทศ เป็นรายได้จากการขายทั้งจำนวน
                  กรณีที่ 2 บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกรรมอยู่ใน FZ นำน้ำมัน A จากต่างประเทศเข้าไปในปริมาณ 1,000,000 BBL และนำน้ำมัน B จากต่างประเทศเข้าไปใน FZ ปริมาณ 500,000 BBL เมื่อผสมแล้วเป็นน้ำมัน C มีปริมาณ 1,500,000 BBL และส่งออกน้ำมันดังกล่าวไปขายต่างประเทศ เป็นรายได้จากการขายทั้งจำนวน
                  กรณีที่ 3 บริษัท ก เป็นผู้ประกอบธุรกรรมอยู่ใน FZ 1 นำน้ำมัน A จาก ต่างประเทศเข้าไปใน FZ 1 ปริมาณ 1,000,000 BBL และนำน้ำมัน B จากต่างประเทศเข้าไปใน FZ 1 ปริมาณ 500,000 BBL เมื่อผสมแล้วมีปริมาณ 1,500,000 BBL และมีรายได้จากการขายน้ำมันให้บริษัท ข ที่ตั้งอยู่ใน FZ 2
                  บริษัท ก จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ สำหรับรายได้จากการขายให้บริษัท ข หรือไม่ หากบริษัท ข นำน้ำมันที่ซื้อจากบริษัท ก นำเข้าไปขายในประเทศหรือหากบริษัท ข ส่งออก น้ำมันยอดที่มีการซื้อมาจากบริษัท ก ไปขายยังต่างประเทศ และในส่วนของบริษัท ข รายได้จากการขายน้ำมันข้างต้นจะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีหรือไม่ อย่างไร
                  กรณีที่ 4 บริษัทฯ นำน้ำมันจากต่างประเทศเข้าไปใน FZ และนำสารเติมแต่ง (Additive) จากในประเทศผสม ( ซึ่งมีมูลค่าต่ำมากไม่เกิน 10% ของราคาน้ำมันหลัก ) เพื่อให้ได้คุณภาพตามความต้องการของลูกค้า แล้วนำน้ำมันที่ผสมแล้วส่งออก รายได้จากการขายน้ำมันส่งออกทั้งจำนวนนี้จะได้รับสิทธิอัตราภาษีหรือไม่


แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1. ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ให้แก่บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉพาะเพื่อการนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอดอากร หรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร สำหรับรายได้จากการประกอบ
ธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาทต่อปีนั้น เนื่องจาก
พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอ้างอิงการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ดังนั้น คำว่า “ น้ำมันเชื้อเพลิง ” ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย
ว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
              2.   กรณีตาม 2. การซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการนำเข้าและส่งออกไปนอก ราชอาณาจักรในเขตปลอดอากร หรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร บริษัทที่ ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องมีรายได้จากการ ประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาทต่อปี และต้องมีคุณสมบัติดังนี้
                    (1) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวัน
สุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป
                     (2) มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในประเทศไทยไม่น้อยกว่าห้าล้านบาทต่อปีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
                     (3) ได้จดทะเบียนการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพลังงานต่อกรม สรรพากรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
           ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 และการได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้ใช้บังคับแก่กำไรสุทธิของบริษัทที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547
           กรณีรายได้จากการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จะ
ได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ จะต้องเป็นการซื้อและขายน้ำมัน เชื้อเพลิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเฉพาะกรณีนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอด อากรหรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกรณีการซื้อและการขายน้ำมัน เชื้อเพลิงที่อยู่นอกราชอาณาจักรและไม่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 3 แห่งพระราช กฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547
              3. กรณีตาม 3. เมื่อบริษัทฯ ประสงค์จะได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา
ร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 บริษัทฯ ต้องแจ้งการเป็น ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากกระทรวงพลังงานให้ค้าน้ำมัน เฉพาะเพื่อการนำเข้าและ
ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอดอากรหรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามแบบ ป . ต .01 โดยยื่น ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรมสรรพากร กรณีเป็นผู้เสียภาษีที่อยู่
ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หรือยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่บริษัทฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ 135) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากกระทรวงพลังงาน เฉพาะเพื่อการ นำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอด อากรหรือ ระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ลงวันที่ 10 มกราคม พ . ศ . 2548 เมื่อบริษัทฯ ได้แจ้งการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมัน เชื้อเพลิงจากกระทรวงพลังงานในรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากกระทรวงพลังงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ต้องแจ้งการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจาก
กระทรวงพลังานภายในวันที่ 30 เมษายน 2548 ตามข้อ 6 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับ
ดังกล่าว และเมื่อบริษัทฯ ได้แจ้งการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากกระทรวงพลังงานต่อกรมสรรพากรแล้ว บริษัทฯ ต้องคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
นิติบุคคล พร้อมทั้งบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนของบริษัทฯ ตามที่กรมสรรพากรกำหนดตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
              4. กรณีตาม 4. บริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนยื่นแบบ ป . ต .01 ขอใช้สิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา ร้อยละ 10 ในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้ว เมื่อบริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษี
เงินได้นิติบุคคล ( ภ . ง . ด .51) ของบริษัทฯ ตามมาตรา 67 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นสองฉบับ คือ เงินได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา
ร้อยละ 10 และเงินได้จากกิจการอื่นยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 เมื่อสิ้นปีบริษัทฯ มียอดรายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่าสองพันล้านบาท ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 บริษัทฯ ย่อมไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 สำหรับเงินได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัทฯ จึงต้องนำเงินได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ มาคำนวณเสียภาษีเงินได้
นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 30 ตามมาตรา
67 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีของบริษัทฯ ที่ได้ยื่นไว้ในอัตราร้อยละ 30 ตามมาตรา 67 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ถูกต้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ชำระขาดตามมาตรา 67 ตรี วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
                เมื่อบริษัทฯ ได้แจ้งการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากกระทรวงพลังงานตามแบบ ป . ต .01 แล้วกรณีบริษัทฯประกอบกิจการทั้งกิจการที่มีรายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงและกิจการอื่น บริษัทฯ ต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ พร้อมทั้งบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนของแต่ละกิจการออกเป็นคนละชุด สำหรับบัญชีงบดุลของบริษัทฯ ให้ยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ใน กิจการใดกิจการหนึ่งก็ได้ โดยให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดียวกัน ตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ 135) ฯ ลงวันที่ 10 มกราคม พ . ศ . 2548
                 นอกจากนี้การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทฯ ต้องเป็นไปตาม
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว และหากกิจการที่มีรายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขาย
น้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ บริษัทฯ ต้องคงผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวไว้ในกิจการที่มี
รายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดี
กรมสรรพากรฉบับดังกล่าว เพื่อนำไปหักออกจากกำไรสุทธิจากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขาย
น้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัทฯ เป็นรอบระยะเวลาบัญชีเป็นปี ๆ ไปตามลำดับ แต่ผลขาดทุนสุทธิที่ยกมา หัก
ต้องเป็นผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
              5.  กรณีบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้า
น้ำมันเชื้อเพลิงในเขตปลอดอากร หากบริษัทฯ มีคุณสมบัติตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547 และได้ประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอดอากร หรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร สำหรับรายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวที่มีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาทต่อปี บริษัทฯ ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ 426) พ . ศ . 2547
เลขตู้: 68/33519

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020