เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7167
วันที่: 26 สิงหาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา มาตรา 40(1) มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 45)ฯ
ข้อหารือ:         นาง จ. เป็นพนักงานของธนาคาร ด. แต่ต่อมาได้มีการควบกิจการของธนาคาร ด. เข้ากับธนาคาร ท. ทำให้ธนาคาร ด. เลิกกิจการ นาง จ. และพนักงานของธนาคาร ด. จึงเปลี่ยนโอนมาทำงานเป็นพนักงานของธนาคาร ท. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 และได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคาร ท. โดยนับอายุทำงานให้ ต่อมาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคาร ด.ได้จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่นาง จ. และพนักงานของธนาคาร ด. โดยบริษัทฯ ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระบุว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เงินเดือนค่าจ้าง เงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานโดยนาง จ. และพนักงานของธนาคาร (เดิม) ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.91 (ผ่านทางอินเตอร์เน็ตทีม 2) โดยนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับมาคำนวณในใบแนบ ซึ่งจะต้องได้รับเงินภาษีคืนเป็นเงิน 14,513.27 บาท แต่ปรากฏว่าสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและแจ้งว่านำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงินได้ดังกล่าวมิใช่เป็นเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน จึงต้องคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนาง จ. ไม่เห็นด้วยและขอให้ทบทวนการคำนวณภาษีและคืนเงินภาษีให้นาง จ. ด้วย
แนววินิจฉัย

:         กรณีตามข้อเท็จจริง นาง จ. ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีธนาคาร ด. ได้ควบกิจการกับธนาคาร ท. โดยธนาคาร ด. เลิกกิจการโดยนาง จ. และพนักงานของธนาคาร ด. ได้โอนการทำงานมาเป็นพนักงานของธนาคาร ท. ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเหตุให้ ไม่สามารถนับอายุการทำงานต่อในการคำนวณเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ เงินได้ที่นาง จ. ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น หากนาง จ. มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี นาง จ. ย่อมมีสิทธิจะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้: 68/33537

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020