เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./1175
วันที่: ลว. 10 กุมภาพันธ์ 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การใช้สิทธิยกเว้นภาษีตามบัตรส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530
ข้อหารือ: บริษัท ซี จำกัด แจ้งว่า เดิมบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซหรือส่วนประกอบรวมทั้งการติดตั้ง
ประเภท 4.19 กิจการผลิตโครงสร้างโลหะที่ใช้ในการก่อสร้างหรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไร
สุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการมีกำหนดเวลา 3 ปี ของกำลังการผลิตปีละไม่เกิน 12,000 ตัน
บริษัทฯ เริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2544 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2546
ซึ่งสิทธิยกเว้นภาษีตามบัตรส่งเสริมสิ้นสุดลงแล้ว บริษัทฯ ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน
กิจการประเภทเดียวกันอีก ซึ่งมีลักษณะเป็นการขยายกำลังการผลิต ในกิจการประเภท 4.19
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้ได้รับการส่งเสริมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการ
ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวมกันไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุน
หมุนเวียนมีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการมีกำลังการผลิตที่ได้
รับอนุมัติปีละไม่เกิน 18,000 ตัน ทั้งนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นมีมูลค่าไม่เกิน
248,120,000 บาท ซึ่งจะปรับเปลี่ยนตามจำนวนเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
ที่แท้จริงในวันเปิดดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริม บริษัทฯ แจ้งการมีรายได้ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 จึงขอทราบว่า
1. บริษัทฯ จะขอเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้รับจากขายแท่นขุดเจาะน้ำมัน
ที่ผลิตได้จากกำลังการผลิต 12,000 ตัน ตามกำลังการผลิตของบัตรส่งเสริมฉบับแรกก่อน จากนั้น
บริษัทฯ จะขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิจากการขายแท่นขุดเจาะน้ำมันที่
กำลังการผลิตส่วนที่เกินจาก 12,000 ตัน ขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งอาจเกินจากกำลังการผลิต 18,000 ตัน
ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมฉบับที่ 2 แต่การใช้สิทธิจะไม่เกินกว่า 248,120,000 บาท
ที่กำหนดไว้ตลอด 3 ปีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการถูกต้องหรือไม่ 2. บริษัทฯ
จะขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้รับจากการขายแท่นขุดเจาะน้ำมันที่
ผลิตได้จากกำลังการผลิตตั้งแต่ตันแรกจนถึงตันที่ 18,000 ตัน ตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ 2 ก่อน
จากนั้นจึงนำกำไรสุทธิส่วนที่ได้รับจากแท่นขุดเจาะน้ำมันส่วนที่เกินจากกำลังการผลิต 18,000 ตัน
ไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามปกติต่อไปเป็นการถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน แต่บริษัทฯ ไม่ได้รับ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดจากการประกอบกิจการ คงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
เพียงบางส่วน ดังนั้น ในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิบริษัทฯ จะต้องนำรายได้จาก
การขายผลิตภัณฑ์แท่นขุดเจาะน้ำมันตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนที่
ไม่เกินปริมาณการผลิตจำนวน 18,000 ตัน และคิดเป็นเงินไม่เกินกว่า 248,120,000 บาท ตามที่
กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมตลอดะยะเวลา 3 ปีเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก่อน
ส่วนรายได้ที่เหลือถือเป็นรายได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่
ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 2.1 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณ
กำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ลงวันที่5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
เลขตู้: 69/33877

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020