เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10880
วันที่: 28 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับการจำหน่ายหนี้สูญ มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า
1. เจ้าหน้าที่สรรพากรของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ได้เข้าตรวจสภาพกิจการของบริษัทฯ และตั้งประเด็นการจำหน่ายหนี้สูญเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 รายที่บริษัท อ. เป็นลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้นจำนวน 1,668,872,952 บาท หนี้ดังกล่าวประกอบด้วย
1.1 หนี้เงินกู้ยืมโดยบริษัท อ. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินต้นจำนวน 501,667,740 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 317,579,472 บาท และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 บริษัทฯ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท อ. (ลูกหนี้) เป็นจำเลยตามมูลหนี้ดังกล่าวต่อศาลแพ่ง ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ให้บริษัท อ. จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 4 ฉบับพร้อมดอกเบี้ย
1.2 หนี้เงินมัดจำค่าที่ดินและค่าก่อสร้างจากการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ เป็นเงินจำนวน 726,300,000 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 123,325,740 บาท และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 บริษัทฯ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท อ. เป็นจำเลยตามมูลหนี้ดังกล่าวต่อศาลแพ่ง ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 ให้บริษัท อ จำเลยชำระเงิน 726,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
2. บริษัทฯ ได้ขอให้ศาลออกคำบังคับคดีตาม 1.1 และ 1.2 และศาลแพ่งได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 และวันที่ 12 กันยายน 2546 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับแล้วลูกหนี้มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับแต่อย่างใด
3. การออกหมายบังคับคดี บริษัทฯ มิได้ดำเนินการขอให้ศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีและแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยบริษัทฯ เข้าใจว่า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ไม่ได้กำหนดให้มีการออกหมายบังคับคดีก่อน จึงจะจำหน่ายหนี้สูญได้
4. การตรวจสอบทรัพย์สินลูกหนี้ บริษัทฯ ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความ ให้ตรวจสอบทรัพย์สินลูกหนี้ จากรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินลูกหนี้ พบที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ในนิคมอุตสาหกรรมฯ จำนวน 75 แปลง แต่ติดจำนองธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั้งสิ้น มูลค่าที่ดินมีราคาน้อยกว่ามูลหนี้อย่างมาก และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ซึ่งสำนักงานทนายความได้ตรวจสอบทรัพย์สินและสถานะของลูกหนี้อย่างต่อเนื่องไม่พบทรัพย์สินอื่นใดอีก ประกอบกับลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี จำนวน 17 คดี รวมมูลหนี้จำนวน 11,502,257,582.36 บาท บางคดีศาลได้ออกหมายบังคับคดีและได้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้แต่ไม่สามารถบังคับยึดทรัพย์ได้ และต่อมาลูกหนี้ได้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องให้ล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 20กรกฎาคม 2547 แต่ บริษัทฯ มิได้ยื่นขอรับชำระหนี้เนื่องจากทราบเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะขอรับชำระหนี้ได้
5. บริษัทฯ ได้ตรวจสอบงบดุลของลูกหนี้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ลูกหนี้ไม่ได้ยื่นงบดุลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ส่วนงบดุลของลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ปรากฏว่า ลูกหนี้ประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินไม่สามารถใช้วงเงินสินเชื่อที่มีอยู่กับกลุ่มสถาบันการเงินผู้ให้กู้ ลูกหนี้จึงไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และทรัพย์สินของลูกหนี้ในขณะนั้น รวมเงินจำนวน 7,750,340,843 บาท ส่วนใหญ่ได้จดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน จึงไม่สามารถยึดมาชำระหนี้บริษัทฯ ได้ และทรัพย์สินอื่น จำนวน 4,273,938,683 บาท เป็นเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องและกรรมการรวมถึงดอกเบี้ยค้างรับ ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องและกรรมการที่กู้ยืมเงินไปนั้น ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องให้ล้มละลายไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่ลูกหนี้ได้
บริษัทฯ จึงหารือว่า การจำหน่ายหนี้สูญในกรณีดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 หรือไม่
แนววินิจฉัย: การจำหน่ายหนี้สูญ กรณีหนี้ของลูกหนี้มีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป จะกระทำได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ฟ้องลูกหนี้และศาลมีคำพิพากษาและคำบังคับแล้ว แต่ลูกหนี้มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับ ซึ่งบริษัทฯ ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ โดยบริษัทฯ อาจใช้สำเนารายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่แสดงว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับรองความถูกต้องของรายงานด้วย หรือบริษัทฯ อาจใช้รายงานการติดตามสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ของทนายความ โดยแจ้งรายงานฯ ดังกล่าวเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหลักฐานการรับทราบของเจ้าพนักงานบังคับคดีประกอบการจำหน่ายหนี้สูญ ตามข้อ 4(2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ มิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย เพราะพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว ถือว่า บริษัทฯ มิได้ปฏิบัติตามข้อ 4(3) ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว บริษัทฯ จึงยังไม่มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากรได้
เลขตู้: 68/33782

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020