เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/297
วันที่: 13 มกราคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีพนักงานไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 มาตรา 40(1) มาตรา 27 ตรี มาตรา 50(1) และมาตรา 52
ข้อหารือ: บริษัท T. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ และเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัท อ. ได้ขอยืมตัวพนักงานของบริษัท อ. จำนวน 3 คน ซึ่งเป็นคนไทยและ
คนต่างประเทศไปทำงานที่ประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลา 1 ปี บริษัท อ. ได้จ่ายเงินเดือนให้พนักงานดังกล่าว ตามปกติ โดยบริษัท อ. ได้เรียกคืนเงินที่จ่าย ในภายหลังจากบริษัท T.
แต่ไม่ได้ยกเลิกสัญญาจ้างกับพนักงานทั้งสาม และได้โอนความเป็นพนักงานของบริษัทฯ ไปเป็นพนักงานของบริษัท T. ในช่วงเวลาปี 2546 พนักงานยังคงได้รับผลประโยชน์อื่นๆ
ตลอดจนการนับอายุงานภายใต้ข้อบังคับและนโยบายของบริษัท อ. พนักงานดังกล่าวไม่ถือเป็นตัวแทน ลูกจ้าง หรือตัวการของบริษัท อ. และไม่มีอำนาจใดๆ ในการปฏิบัติงานในนาม
ของบริษัท อ. พนักงานที่ถูกยืมตัวเป็นคนไทย บริษัท อ. จะหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินเดือนที่จ่ายให้กับพนักงานตามปกติตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2546 ส่วนพนักงาน
ที่เป็นชาวต่างประเทศ บริษัท อ. จะหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินเดือนที่จ่ายให้กับพนักงานตามปกติตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม 2546 เพื่อนำส่งกรมสรรพากร และบริษัท อ.
ได้จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้เนื่องจากพนักงานได้ปฏิบัติงานให้กับบริษัทฯ ในปี 2545 โดยคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมกับเงินเดือนของพนักงานไว้แล้ว
บริษัท อ. จึงขอทราบว่า
1. พนักงานคนไทยและคนต่างประเทศที่ถูกยืมตัวไปปฏิบัติงานในประเทศอังกฤษมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยสำหรับเงินได้ที่ได้รับในปีภาษี 2546 หรือไม่
2. หากไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หรือไม่ และบุคคลใดจะเป็นผู้มีสิทธิขอคืน
3. ในระหว่างที่พนักงานที่ถูกยืมตัวไปปฏิบัติงานที่ประเทศอังกฤษ บริษัท อ.ได้จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้เนื่องจากผลการปฏิบัติงานให้กับบริษัทฯ ในปี 2545
บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1 พนักงานของบริษัท อ. ซึ่งเป็นคนไทยและคนต่างประเทศถูกยืมตัวไปปฏิบัติงานในประเทศอังกฤษตามสัญญายืมตัวพนักงาน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาพนักงานดังกล่าว
ยังกลับมาเป็นลูกจ้างของบริษัท อ. และยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากบริษัท อ. โดยระหว่างที่พนักงานถูกยืมตัวไปทำงาน บริษัท อ. จะจ่ายทดรองเงินเดือนให้แก่พนักงานดังกล่าวด้วย
และได้เรียกคืนจากบริษัท T. ในภายหลัง การที่พนักงานถูกยืมตัวไปทำงานในประเทศอังกฤษ โดยการทำงานดังกล่าวมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของบริษัท อ. ในประเทศไทย ประกอบกับบริษัท อ.
ไม่มีภาระต้องจ่ายเงินได้ให้แก่พนักงาน เงินที่พนักงานดังกล่าวได้รับถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร หากพนักงานที่ถูกยืมตัว มิได้เป็น
ผู้อยู่ในประเทศไทย และนำเงินได้นั้นเข้ามาในปีภาษีนั้น พนักงานดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้แต่อย่างใด
2. กรณีตาม 2 พนักงานที่ถูกยืมตัวไปปฏิบัติงานในประเทศอังกฤษและไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม 1 แต่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ พนักงานดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงิน
ภาษีได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
3. เงินโบนัสที่พนักงานดังกล่าวได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานให้กับบริษัท อ. ในปี 2545 และได้จ่ายให้กับพนักงานในปี 2546 เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำใน
ประเทศไทย ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โดย
บริษัท อ. ผู้จ่ายต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตาม
มาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งเงินภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
การยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 69/33823

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020