เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/562
วันที่: 24 มกราคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท น. ให้กู้ยืมแก่ บริษัท อ. เป็นจำนวนเงินต้น 213,304,944.72 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 138,179,471.08 บาท โดยบริษัท น. ได้ติดตามทวงถามให้
ลูกหนี้ชำระหนี้แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ บริษัท น. ได้ฟ้องร้องลูกหนี้ในคดีแพ่ง โดยศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินต้นจำนวน 213,304,944.72 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ตามอัตราที่ศาลกำหนด นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ บริษัท น. ได้ทำการสืบทรัพย์ตามที่อยู่ของลูกหนี้ และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ ปรากฏว่า ทรัพย์สิน
ดังกล่าวลูกหนี้ไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ตามรายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี บริษัท น. ได้ยื่นคำขอต่อศาลแพ่งให้ศาลแพ่งออกใบสำคัญคดีถึงที่สุดในคดีดังกล่าว และ
ศาลแพ่งได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด บริษัท น. มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ใช่หรือไม่ และถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท น. ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัท น. ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท อ. เป็นจำนวนเงินต้น 213,304,944.72 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 138,179,471.08 บาท หากการให้กู้ยืมอยู่ในวัตถุประสงค์
ของบริษัท หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ เมื่อบริษัท น. ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งและศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินต้นพร้อม
ดอกเบี้ย โดยบริษัท น. ได้ทำการสืบทรัพย์และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ปรากฏตามรายงานการยึดทรัพย์สินว่า ทรัพย์สินดังกล่าวลูกหนี้ไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และ
บริษัท น. ได้ยื่นคำขอต่อศาลแพ่งให้ศาลแพ่งออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด และศาลแพ่งได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด กรณีเห็นว่า บริษัท น. ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามข้อ 4 (2)
ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ และบริษัท น. มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้
เลขตู้: 69/33838

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020