เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10410
วันที่: 14 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดทำบัญชีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: ตามข้อ 3 ของประกาศกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
ข้อหารือ: บริษัท จ. ประกอบกิจการเกษตรอุตสาหกรรม ประเภทการผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในการประกอบกิจการบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. เงื่อนไขที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมการลงทุน และระเบียบกรมสรรพากรซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมจะต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมแยกต่างหากจากกิจการส่วนอื่นไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล คำว่า “บัญชีรายรับรายจ่าย” และ “บัญชีทำการ”มีความหมายครอบคลุมถึงบัญชีประเภทใดบ้าง
2. กรณีบริษัทมีการบันทึกบัญชีรายได้และค่าใช้จ่าย บัญชีสินค้าคงเหลือ บัญชีสินทรัพย์ถาวร และจัดทำงบกำไรขาดทุน ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมแยกเป็นรายบัตรส่งเสริม และแยกต่างหากจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริม แต่งบทดลองยังคงเป็นงบทดลองรวมของทั้งกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและที่ไม่ได้รับการส่งเสริม กรณีดังกล่าวถือว่าบริษัทฯ ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม และระเบียบของกรมสรรพากรที่กล่าวมาในข้อ 1. แล้วใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคลมารวมเข้าด้วยกัน ตามข้อ 3 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 โดยต้องจัดทำบัญชีรายได้และค่าใช้จ่ายของทั้งสองกิจการแยกต่างหากจากกัน ส่วนการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
เลขตู้: 68/33733

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020