เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7148
วันที่: 25 สิงหาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การปรับโครงสร้างการถือหุ้นเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 74(1)(ค)
ข้อหารือ: บริษัท ก.. บริษัท ข. บริษัท ค. บริษัท ง. ร่วมกับบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ๆ (รวมเรียกว่า “กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ”) ร่วมกันถือหุ้นในบริษัท จ. บริษัท ฉ. บริษัท ช. (รวมเรียกว่า “กลุ่มบริษัทประกันฯ”) มีความประสงค์จะนำกลุ่มบริษัทประกันฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) แต่เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกันและมีขนาดแตกต่างกันจึงไม่สามารถที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ปรึกษาทางการเงินเห็นควรให้นำหุ้นกลุ่มบริษัทประกันฯ มารวมอยู่ภายใต้บริษัทที่กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จะดำเนินการจัดตั้งขึ้นใหม่ และให้จดทะเบียนบริษัทดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน โดยใช้กฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการจดทะเบียนบริษัทโฮลดิ้ง (ฮ.) โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จะดำเนินการโอนหุ้นกลุ่มบริษัทประกันฯ ที่ตนถืออยู่ให้แก่บริษัท ฮ. เพื่อแลกกับหุ้นออกใหม่ตามสัดส่วน ซึ่งจะมีผลให้กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ แต่ละรายมีหุ้นในบริษัท ฮ. ตามจำนวนรวมของต้นทุนหุ้นเดิมในกลุ่มบริษัทประกันฯ ที่ตนเคยถืออยู่ เสมือนกับว่าไม่เคยมีการปรับโครงสร้างบริษัทแต่อย่างใด กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จึงขอหารือ ดังนี้
1. การโอนหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ ในกลุ่มบริษัทประกันฯ ดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัท ฮ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามสัดส่วนต้นทุนหุ้นเดิมของกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ นั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ แต่ละรายจำหน่ายหุ้นออกใหม่ในบริษัท ฮ. ออกไป กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ ก็จะต้องนำราคาขายที่ได้รับหักด้วยต้นทุนเดิมเป็นกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ
2. นอกเหนือจากวิธีการโอนหุ้นตามข้อ 1. นั้น กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ อาจใช้วิธีการปรับโครงสร้างองค์กรตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(ก) กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จะทำการโอนสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจประกันให้แก่บริษัท ฮ. ในราคาต้นทุนโดยแลกกับหุ้นออกใหม่ และจะทำการโอนสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันให้แก่บริษัทอื่นในราคาต้นทุน โดยการโอนทั้งสองกรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน และมีผลเป็นการโอนกิจการทั้งสิ้นในคราวเดียวกัน และ
(ข) กลุ่มผู้ถือหุ้นจะจดทะเบียนชำระบัญชีเลิกกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน และจะกระจายหุ้นออกใหม่ที่ได้รับในขั้นตอนการโอนกิจการตาม (ก) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของตนตามสัดส่วน
(ค) จดทะเบียนบริษัท ฮ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ เข้าใจว่าการโอนกิจการของกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ ให้แก่บริษัทผู้รับโอนสองรายพร้อมกันในคราวเดียวกันนั้น ถือเป็นการโอนกิจการทั้งสิ้นตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากกฎหมายมิได้จำกัดว่าจะต้องมีผู้รับโอนเพียงรายเดียว ทั้งนี้ บริษัทผู้โอนจะต้องชำระบัญชีเลิกบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกับปีที่มีการโอนกิจการ กรณีจึงไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นที่ได้รับหุ้นออกใหม่ในขั้นตอนการชำระบัญชีย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามนัยมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2(50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เนื่องจากถือได้ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่ได้รับมาจากขั้นตอนการโอนกิจการทั้งสิ้นตามกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่เปิดโอกาสให้บริษัทผู้รับโอนกิจการชำระค่าตอบแทน (ในรูปหุ้นออกใหม่) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้โอนกิจการได้โดยตรง (เนื่องจากไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน)
แนววินิจฉัย: 1. การที่กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ ทำการปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้น โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จะโอนหุ้นกลุ่มบริษัทประกันฯ ที่ตนถืออยู่ให้แก่บริษัท ฮ. เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำบริษัท ฮ. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากสัดส่วนการถือหุ้น จำนวนหุ้น และราคาของหุ้นในบริษัท ฮ. ของกลุ่มผู้ถือหุ้นทุก ๆ ราย จะมีจำนวนหุ้นและราคาหุ้นเช่นเดียวกันกับสัดส่วนของกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ แต่ละรายที่มีการถือหุ้นในกลุ่มบริษัทประกันฯ ก่อนการโอนหุ้น ถือได้ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นฯ นำหุ้นในกลุ่มบริษัทประกันฯ แลกกับหุ้นออกใหม่ของบริษัท ฮ. เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ แต่ละรายจำหน่ายหุ้นออกใหม่ในบริษัท ฮ. ออกไป กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จะต้องนำราคาขายที่ได้รับหักด้วยต้นทุนเดิมมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. การโอนกิจการระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วยกัน โดยที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอนเพียงรายเดียว ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จะโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับธุรกิจประกันให้แก่บริษัท ฮ. และจะโอนทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันให้แก่บริษัทอื่นตามข้อเท็จจริง จึงมิใช่การโอนกิจการทั้งหมดตามประมวลรัษฎากร ผู้ถือหุ้นไม่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ผู้ประกอบกิจการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2(50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
เลขตู้: 68/33532

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020