เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./2357
วันที่: 20 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/11 ประกาศอธิบดีกรมฯ (ฉบับที่ 85) พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)
ข้อหารือ:          บริษัท อ. ดำเนินธุรกิจให้บริการข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์ (AUDIOTEX) ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมดำเนินงานกับ บ.ก. บ.ข. และ บ.ค. โดยบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ ให้บริการโทรศัพท์กับประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการ และเป็นผู้บันทึกใบแจ้งหนี้ตลอดจนรับชำระเงินจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของแต่ละโครงข่ายโทรศัพท์ ใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ในกรณีนี้จะระบุเป็นค่า AUDIOTEX แยกให้เห็นชัดเจน ซึ่งบริษัทฯ จะได้เงินส่วนแบ่งค่าดำเนินงานพร้อมภาษีขายจากบริษัทเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ หลังจากที่บริษัทเหล่านั้นได้รับชำระค่าบริการโทรศัพท์จากลูกค้าแล้วตามจำนวนที่ได้รับเงินจริง หลังหักส่วนแบ่งค่าดำเนินงานตามข้อตกลง โดยบริษัทเจ้าของโครงข่ายจะแจ้งข้อมูลยอดการใช้บริการ AUDIOTEX ของลูกค้า และยอดการรับชำระเงินจากลูกค้าหลังจากหักส่วนแบ่งค่าดำเนินงานแล้ว เป็นประจำทุกเดือนให้กับบริษัทฯ ส่วนบริษัทฯ ก็จะบันทึกรายได้ตามยอดการใช้บริการโทรศัพท์ของลูกค้าตามที่บริษัทเจ้าของโครงข่ายแจ้งในแต่ละเดือน เมื่อบริษัทฯ นำยอดใช้บริการเปรียบเทียบกับยอดรับชำระเงินตามที่ได้รับแจ้งจากบริษัทเจ้าของโครงข่ายนั้น บริษัทฯ มีรายได้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2542 - 2543 แต่บริษัทฯ ไม่ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และรายได้ค้างชำระดังกล่าวไม่ได้รับชำระ บริษัทฯ จึงขอหารือว่า
           1. บริษัทฯ จะตัดรายได้ค้างชำระปี 2542 และปี 2543 เป็นหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชี 2548 ได้หรือไม่ เพราะบริษัทฯ ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริงของผู้ใช้บริการโทรศัพท์ บริษัทฯ เป็นเพียงเจ้าหนี้บริษัทเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ และรายได้ค้างชำระปี 2544 ก็จะตัดเป็นหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 ตามลำดับ
           2. การตัดหนี้สูญตามข้อ 1 จะมีภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภาษีขาย)เกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะภาษีขายเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินจากบริษัทเจ้าของโครงข่ายเท่านั้น
แนววินิจฉัย:          1. กรณีบริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ดังนั้นหากบริษัทฯ ต้องการตัดรายได้ค้างชำระปี 2542 และปี 2543 เป็นหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 และรายได้ค้างชำระปี 2544 ตัดเป็นหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 บริษัทฯ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ
           2. กรณีบริษัทฯ จะนำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้มีการจำหน่ายหนี้สูญจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ดังนั้น หากหนี้สูญที่บริษัทฯ จะจำหน่ายนั้น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85)ฯ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 บริษัทฯ ย่อมไม่มีสิทธินำส่วนของภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้มีการจำหน่ายหนี้สูญ
เลขตู้: 69/34002

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020