เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2356 
วันที่: 20 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ้างยามรักษาความปลอดภัย และกรณีค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          บริษัทได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
             1. กรณีบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการประกันชีวิตได้ว่าจ้างบุคคลธรรมดาเป็นยามรักษาความปลอดภัย จำนวน 1 คน โดยไม่มีการทำสัญญาเป็นหนังสือ และไม่มีการกรอกใบสมัครเป็นพนักงาน ในการจ่ายเงินค่าจ้างจะจ่ายเป็นรายวันหรือแล้วแต่ผู้รับจ้างจะขอเบิก บางครั้งจ่าย 4 วันต่อครั้ง หรือ 12 วันต่อครั้ง เป็นต้น ค่าจ้างดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตราใดแห่งประมวลรัษฎากร และจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
             2. กรณีบริษัทได้แจ้งให้สาขาจ่ายเงินเดือนพนักงานโดยการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีเงินฝากของพนักงานโดยบริษัทไม่ได้ทำสัญญาใด ๆ กับธนาคาร ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินที่ธนาคารเรียกเก็บไม่ถึง 1,000 บาท บริษัทจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
             3. กรณีสาขาโอนเงินให้สำนักงานใหญ่ผ่านธนาคารซึ่งมีจำนวนเงินที่ไม่แน่นอน บางสาขาโอนเงินเดือนละ 2 ถึง 3 ครั้ง บางสาขาโอนเงิน 2 เดือนต่อครั้ง การให้บริการโอนเงินของธนาคารดังกล่าวเป็นสัญญาระยะสั้นหรือระยะยาว และหากค่าธรรมเนียมในการโอนเงินที่ธนาคารเรียกเก็บแต่ละครั้งไม่ถึง 1,000 บาท บริษัทจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย:          1. กรณีตาม 1. บริษัทจ้างบุคคลธรรมดาเป็นยามรักษาความปลอดภัย ซึ่งโดยลักษณะของหน้าที่ความรับผิดชอบและการปฏิบัติงานของยามรักษาความปลอดภัยจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของบริษัท ดังนั้น เงินค่าจ้างที่ยามรักษาความปลอดภัยได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่จ่ายค่าจ้าง
         2. กรณีตาม 2. และ 3. ค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่ธนาคารเรียกเก็บจากบริษัท กรณีการโอนเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน และกรณีสาขาโอนเงินให้สำนักงานใหญ่ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่คู่สัญญาไม่สามารถคำนวณค่าบริการที่รับได้ทั้งสิ้นเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ในการทำสัญญารายหนึ่ง ๆ หรือครั้งหนึ่ง ๆ จึงเป็นสัญญาระยะยาว ดังนั้น หากการจ่ายค่าบริการไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าบริการในครั้งต่อไปซึ่งเมื่อนำไปรวมกับค่าบริการครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไปผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ โดยจะต้องนำเงินค่าบริการที่จ่ายในครั้งก่อน ๆ มารวมคำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย ทั้งนี้ ตามข้อ 12/1 และข้อ 12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
เลขตู้: 69/34001

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020