เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2962
วันที่: 10 เมษายน 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าซื้อรถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             กรณีที่กรมสรรพากรได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อรถยนต์สรุปความว่า เงินค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้จากการให้เช่าซื้อดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สมาคมฯ เห็นว่า การจดทะเบียนรถยนต์ การต่อทะเบียนรถยนต์ และการประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เนื่องจากประมวลรัษฎากรกำหนดให้การบันทึกบัญชีของผู้เช่าซื้อบันทึกบัญชีเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาประเภททรัพย์สิน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 4 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้เช่าซื้อในฐานะผู้ครอบครองรถยนต์มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย รวมทั้งให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัยและชำระค่าเบี้ยประกันภัย โดยใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจะออกในนามของผู้เช่าซื้อ สมาคมฯ จึงขอให้กรมสรรพากรทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าวอีกครั้ง
แนววินิจฉัย:            เนื่องจากผู้เช่าซื้อเป็นเจ้าของรถยนต์ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีประจำปีตามมาตรา 4 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 อีกทั้งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้เช่าซื้อนำทรัพย์สินที่เช่าชื้อบันทึกบัญชีเป็นประเภททรัพย์สินของบริษัทโดยให้หักค่าใช้จ่ายจากการเช่าชื้อในลักษณะเป็นการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) ประกอบกับตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนั้น สัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์ที่มีข้อกำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ จึงเป็นการกำหนดเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อที่เป็นเจ้าของรถยนต์ ผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต้องนำรายได้จากการให้เช่าซื้อ ได้แก่ ค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าประกันภัยที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ตลอดจนไม่ต้องนำรายรับในกรณีนี้ไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34070

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020