เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706(กม.04)/459
วันที่:18 เมษายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย:มาตรา 70 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 78/1 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            บภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ราย บริษัท ท. สรุปความได้ ดังนี้
:            1. บริษัทฯ เป็นเจ้าหนี้การค้าบริษัท A (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินจำนวน 802,374,188.67 บาท และเป็นลูกหนี้การค้า บริษัท A เป็นจำนวนเงิน 930,607,236.38 บาท 2. บริษัทฯ เป็นลูกหนี้ค่าสิทธิที่ค้างจ่ายบริษัท B จำนวน 1,686,128.38 US$ ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า
:            บริษัทฯ ได้ทำสัญญาประนอมหนี้ตามข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับบริษัท A และบริษัท B โดยบริษัทฯ ยินยอมชำระหนี้ให้แก่บริษัท A เป็นเงิน 25,000,000.00 บาท จ่ายในปี 2546 จำนวน 5,000,000.00 บาท ในปี 2547 จำนวน 20,000,000.00 บาท ต่อมาบริษัทฯ ต้องขายหุ้นของบริษัท C และบริษัท D ให้แก่ บริษัท A ตามราคาที่บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียคือสำนักงานผู้สอบบัญชี เป็นผู้กำหนดราคาตามราคาตลาด เนื่องจากหุ้นทั้งสองบริษัทมิได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ ขายหุ้นและชำระหนี้แล้วจะได้รับการลดหนี้ส่วนที่เหลือ ส่วนบริษัท B จะลดหนี้ค่าสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 1,686,128.38 US$ ด้วย โดยบริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่บริษัท B แต่อย่างใด
:            บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 เป็นเงินจำนวน 1,686,128.38 US$ คิดเป็นเงินไทยเป็นเงินจำนวน 66,666,986.95 บาท นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เป็นเงินจำนวน 4,666,689.09 บาท เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 แต่ไม่ได้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่ได้จ่ายเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นให้กับบริษัท B บริษัทฯ จึงหารือว่า บริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องหรือไม
แนววินิจฉัย:             1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
:                 1.1 กรณีบริษัทฯ ได้รับการปลดหนี้ค่าสิทธิในเครื่องหมายการค้าจำนวน 1,686,128.38 US$ บริษัทฯ ต้องนำจำนวนเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้จาก บริษัท B มารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เทียบได้กับทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรได้วางไว้ตามบันทึกที่ กค 0706/864 ลงวันที่ 24 มกราคม 2546 (เอกสารแนบ 1) และการปลดหนี้ให้ดังกล่าว หากบริษัทฯ มิได้มีการจ่ายเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินให้แก่ บริษัท B แล้ว บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
:                 1.2 กรณีบริษัทฯ เป็นเจ้าหนี้การค้า บริษัท A เป็นจำนวน 802,374,188.67 บาท และเป็นลูกหนี้การค้า บริษัท A เป็นจำนวนเงิน 930,607,236.38 บาท เมื่อหักกลบกันแล้ว บริษัทฯ ยังเป็นลูกหนี้การค้า บริษัท A อยู่อีก 128,233,047.71 บาท และบริษัทฯ ได้ทำสัญญาประนอมหนี้กับ บริษัท A โดยบริษัทฯ จะชำระหนี้ให้ บริษัท A เป็นเงิน 25,000,000 บาท และต้องขายหุ้นของบริษัท ม. จำกัด และบริษัท D ให้แก่ บริษัท A ตามราคาตลาดที่บุคคลภายนอกเป็นผู้กำหนดเป็นจำนวนเงินค่าหุ้นทั้งสิ้น 24,895,920.00 บาท (ตามคำให้การของ กรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547) เมื่อหักกลบหนี้กันแล้วยังคงเหลือส่วนต่าง (128,233,047.71 - 25,000,000.00 - 24,895,920.00) จำนวน 78,337,127.71 บาท ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ได้รับการลดหนี้จากการประนอมหนี้ดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องนำเงินส่วนที่ได้รับการลดหนี้ไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
:            2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท B ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรปลดหนี้ค่าสิทธิให้กับบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าสิทธิในกรณีนี้ ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34124

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020