เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3551
วันที่: 1 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยค่าเสียหาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 วรรคสอง มาตรา 77/1(8)(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             บริษัท ก. ได้ว่าจ้างบริษัท ส. ดำเนินการสรรหา รับสมัคร และคัดเลือกบุคคลภายนอก เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จำนวน 509 คน ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ต่อมาบริษัท ก. ได้ยกเลิกการสั่งจ้างด้วยเหตุจำเป็นบางประการ บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือเรียกร้องเงินชดเชยจากบริษัท ก. และได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 12,500,000 บาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
            1. เงินชดเชยที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท ก. จำนวน 12,500,000 บาท อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ 
            2. เงินชดเชยดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2548 ที่บริษัท ก. ตกลงจ่ายให้ หรือในปี 2549 ที่บริษัทฯ ได้รับเงินจริง
แนววินิจฉัย:            1. เงินชดเชยความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท ก. ไม่ถือเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีกรณีเรียกเก็บเงินชดเชยค่าเสียหาย ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
            2. บริษัทฯ ต้องนำเงินชดเชยความเสียหายที่บริษัท ก. ตกลงจ่ายให้ในปี 2548 มาถือเป็นรายได้โดยใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528
เลขตู้:69/34146

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020