เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3794
วันที่: 3 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการนำผลเสียหายจากการลดทุนโดยลดมูลค่าหุ้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี และมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             บริษัท อ. จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท ป. จำกัด (มหาชน) บริษัท ก. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ห. จำกัด ในปี 2537 จดทะเบียนในนามบริษัท บ. จำกัด โดยบริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเป็นจำนวน 2,399,999 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 23,999,990.00 บาท ต่อมาในปี 2545 บริษัท บ. ได้ถูกฟ้องล้มละลายและถูกฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ลดทุนจดทะเบียนของบริษัท บ. ลงในอัตรา 4 : 1 ทำให้บริษัทฯ ขาดทุนจากการลดมูลค่าหุ้นทันที จำนวน 17,999,990.00 บาท เหลือมูลค่าการลงทุนเพียง 6,000,000.00 บาท แต่บริษัทฯ เห็นว่า การที่บริษัท บ. ลดทุนลงนั้นน่าจะมีผลการดำเนินการที่ดีขึ้น จึงได้ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท บ. จากห้างหุ้นส่วนจำกัด คงถาวร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท บ. เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400,000 หุ้นๆ ละ 10 บาท เป็นเงินจำนวน 4,000,000.00 บาท รวมมูลค่าการลงทุนในบริษัท บ. ทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 10,000,000.00 บาท ในปี 2547 บริษัท บ. ประกอบกิจการขาดทุนมาโดยตลอด บริษัทฯ จึงได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัท บ. จำนวน 1,000,000 หุ้น ทั้งหมดให้แก่ นาย ธ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ของบริษัท บ. ในราคาหุ้นละ 2.30 บาท เป็นเงินจำนวน 2,300,000.00 บาท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากผลขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2546 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
            1. บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีโดยนำผลขาดทุนจากการที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการลดทุนจดทะเบียนในปี 2545 จำนวน 17,999,990 .00 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในปี 2547 ได้หรือไม่
            2. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 บริษัทฯ ได้ขายหุ้นไปในราคาหุ้นละ 2.30 บาท แต่ในงบดุลสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ของบริษัท บ. มีมูลค่าหุ้นราคา 2.56 บาท บริษัทฯ สามารถนำผลต่างของมูลค่าหุ้นที่ถูกลดทุนเหลือ 10 บาท หักด้วยมูลค่าที่ขายไป 2.30 บาท เหลือ 7.70 บาท มาบันทึกบัญชีเป็นผลขาดทุนของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:             1. กรณีบริษัทฯ ลงทุนหาผลประโยชน์ในบริษัท บางกอกคริสตัล จำกัด โดยซื้อหุ้นของบริษัท บ. จำนวน 2,399,999 หุ้น ซึ่งเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินในปี พ.ศ. 2537 และต่อมาผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท บ. ได้ลดทุนจดทะเบียนของบริษัท บ. ในปี 2545 ทำให้เงินลงทุนในหุ้นของบริษัท บ. ที่บริษัทฯ ถืออยู่ลดลง บริษัทฯ จะนำมูลค่าของหุ้นที่ตีราคาต่ำลงไม่ว่าจะโดยการลดมูลค่าหุ้นหรือลดจำนวนหุ้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ จะนำมูลค่าหุ้นที่ตีราคาต่ำลงซึ่งเป็นผลเสียหายจากการลดทุนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อได้มีการขายหุ้นดังกล่าวแล้ว
             2. กรณีบริษัทฯ ได้ขายหุ้นของบริษัท บ. ในราคาหุ้นละ 2.30 บาท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 หากการขายหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาหุ้นตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรณีที่การขายหุ้นดังกล่าวเกิดผลขาดทุนซึ่งเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงมีสิทธินำผลขาดทุนจากการขายหุ้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34154

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020