เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/577
วันที่: 9 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินได้จากหลักทรัพย์ให้กับ Custodian ในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: ข้อ 11 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐและมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            1. ด้วย ภญ. ได้มีบันทึกด่วนที่สุด ลงวันที่ 5 เมษายน 2549 หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินได้จากหลักทรัพย์ให้กับ Custodian ในต่างประเทศ ราย บริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
                 1.1 บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้เพื่อออกจำหน่ายในต่างประเทศ โดยให้ Depository Trust Company (DTC) เป็นผู้ดูแลหุ้นกู้ทั้งหมด (Custodian) และเมื่อครบกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ บริษัทฯ จึงจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ DTC โดยหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ค่าดอกเบี้ย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 82,352,423.38 บาท ซึ่งจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวเป็นภาษีที่บริษัทฯ ออกให้
                 1.2 ต่อมาบริษัทฯ ตรวจพบว่า DTC เป็นสถาบันการเงินและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามข้อ 11 วรรคสอง (ก) ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ บัญญัติว่า หากเจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยเป็นสถาบันการเงินใด ๆ (รวมทั้ง บริษัทประกันภัย) และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญา ดอกเบี้ยที่จ่ายนั้นให้เก็บภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนดอกเบี้ยที่จ่าย ดังนั้น บริษัทฯ จึงยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เลขที่ 0151/48 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ขอคืนเงินภาษีหักจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ ประจำเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2548 จำนวน 30,500,897.55 บาท
            2. ภญ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำนิยาม Custodian หมายถึง ผู้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์หรือผู้รับฝากทรัพย์สิน ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาใบหุ้น และสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น ให้แก่กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบุคคลธรรมดา หรือบริษัทที่เป็นลูกค้าของ Custodian ซึ่งกรณีตามข้อเท็จจริง DTC เข้าลักษณะเป็น Custodian จึงเป็นสถาบันการเงิน
            สำหรับกรณีบริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 11 วรรคสอง (ก) ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า เจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็น Custodian หรือผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งตามข้อเท็จจริง Custodian เป็นเพียงผู้รับฝากหลักทรัพย์หรือรับฝากทรัพย์สิน คล้ายกับกรณีบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นเพียงผู้รับฝากหลักทรัพย์ มิใช่เป็นผู้รับผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริง เจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริง คือ ผู้ถือหุ้นกู้ ดังนั้น หากบริษัทฯ หรือผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริงพิสูจน์ได้ว่า ผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ มิใช่เป็นการได้รับในนาม Custodian เมื่อบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ DTC บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่า ผู้ใดเป็นผู้รับผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริง บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย:            1. เรื่องดังกล่าวได้นำเข้าหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการ กพภ. ครั้งที่ 8/2549 วันที่ 18 เมษายน 2549 แล้ว (เอกสารแนบ) ซึ่งที่ประชุมมีมติว่า
                 1.1 เนื่องจากข้อ 11 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ บัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ย สรุปได้ว่า ดอกเบี้ยจ่ายจากประเทศใด ให้ประเทศนั้นเป็นผู้เก็บภาษีได้ตามกฎหมายภาษีอากรของประเทศนั้น แต่หากเจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยเป็นสถาบันการเงินใด ๆ (รวมทั้งบริษัทประกันภัย) และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญา ดอกเบี้ยที่จ่ายนั้นให้เก็บภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนดอกเบี้ยที่จ่าย
                 1.2 กรณีตามข้อเท็จจริง หาก DTC เป็นผู้ซื้อหุ้นกู้และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่แท้จริง DTC จึงเป็นเจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยหรือผู้รับผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริง เมื่อบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ DTC บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ อย่างไรก็ดี หาก DTC เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงในการดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่ลูกค้า เช่น ใบหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น โดย DTC มิใช่เจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริง เมื่อบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ DTC บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นลูกค้าของ DTC พิสูจน์ได้ว่า ผู้ถือหุ้นกู้เป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัยตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของผลประโยชน์ของดอกเบี้ยหรือผู้รับผลประโยชน์ของดอกเบี้ยที่แท้จริง เมื่อบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่DTC บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ
เลขตู้:69/34163

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020