เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3182
วันที่:18 เมษายน 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย:มาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            บริษัท ฟ. จำกัด ประกอบกิจการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การสื่อสาร บริการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้เช่า คอมพิวเตอร์ บำรุงรักษาระบบและเครื่องคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้ว่าจ้าง S System ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมันให้การอบรมเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดย S System ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้การอบรม แก่พนักงานของบริษัทฯ ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 4-14 กรกฎาคม 2548 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าบริการฝึกอบรมดังกล่าวให้แก่ S System ในวันที่ 9 กันยายน 2548 และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ต่อกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2548 โดยบริษัทฯ ได้คำนวณเงินค่าบริการฝึกอบรมตามอัตราแลก เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน 2548 ซึ่งตามประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันที่ 9 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่ S System จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสูงไปเป็นเงิน 496.00 บาท ตามรายละเอียดดังนี้
            มูลค่าบริการ VATตามที่บริษัทฯ ชำระ : EUR 18,859.67 @ 51.5240 = 971,744.50 = 68,022.12 บาทตามที่ควรจะเป็น : @51.149.93 = 964,658.92 = 67,526.12 บาท ผลต่าง 496.00 บาท
            บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ นำส่งกรมสรรพากรไปแล้ว จำนวน 68,022.12 บาท ตามใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้แก่บริษัทฯ ถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้ทั้งจำนวน ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:             กรณีบริษัท ได้ชำระค่าบริการฝึกอบรมไปให้บริษัทฯ ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และบริษัทฯ ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 โดยคำนวณเงินค่าบริการฝึกอบรมที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน 2548 เป็นเงินจำนวน 971,744.50 บาทยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) เป็นเงินจำนวน 68,022.12 บาท ซึ่งตามข้อเท็จจริงข้างต้นบริษัทฯ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันที่ 9 กันยายน 2548 คำนวณเป็นเงินตราไทยเป็นเงินจำนวน 964,658.92 บาท และจะต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) เป็นเงินจำนวน 67,526.12 บาท จึงเป็นเหตุ ให้บริษัทฯ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไปเป็นเงินจำนวน 496.00 บาท แต่การที่บริษัทฯ ยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ไว้แล้วเป็นเงินจำนวน 68,022.12 บาท โดยได้รับใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากร ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าว ให้ถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18)(ค) และมาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อในกรณีนี้ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34091

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020