เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./2623
วันที่:28 มีนาคม 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอขยายเวลายื่นแบบ ภ.พ.30 และของดหรือลดเบี้ยปรับ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 78(1) มาตรา 89(2) มาตรา 89/1 และมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             สำนักงานสรรพากรภาค แจ้งว่า ได้รับคำร้องขอขยายเวลายื่นแบบ ภ.พ.30 และของดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ราย บริษัท ท. จึงได้มีบันทึกลงวันที่ 25 เมษายน 2546 ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 9 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.พ.30 ของบริษัทฯ ซึ่ง สท.กรุงเทพมหานคร ได้รายงานผลการตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นรายดังกล่าว พร้อมทั้งส่งเอกสารเพิ่มเติมให้สำนักงานสรรพากรภาค 2 พิจารณา โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
:            1. บริษัท ท. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2535 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 947/23-24อาคารทศพลแลนด์ 4 ถนนบางนา-ตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ สาขาที่ 1 ตั้งอยู่เลขที่ 52 หมู่ 5 ถนนพานทอง ตำบลหนองกะขะ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ
:            2. บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ณ สำนักงานสาขา ตั้งแต่เดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
:            3. บริษัทฯ ได้รับจ้างทำของให้กับบริษัท พ. โดยออกใบกำกับภาษี เมื่อได้รับชำระเงิน แต่ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำหนังสือหารือกรมสรรพากรในประเด็นความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกรมสรรพากรได้มีหนังสือที่ 0811/7514 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 แจ้งว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายมิใช่ผู้รับจ้าง ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมปรับปรุงให้ถูกต้อง สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2540 เดือนภาษีตุลาคม 2541 เดือนภาษีธันวาคม 2542 เดือนภาษีตุลาคม - เดือนภาษีธันวาคม 2543 และเดือนภาษีเมษายน - เดือนภาษีมิถุนายน2544 จำนวนทั้งสิ้น 18,546,928.89 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางนา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 โดยชำระภาษีบางส่วนพร้อมการยื่นแบบ ภ.พ.30 จำนวน 100,004.54 บาท และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางนา ได้ตั้งหนี้ค้างตามแบบ บ.ช.35 เลขที่ 02009470/5/100678 - 100686 ลงวันที่ 15 มกราคม 2545 รวมจำนวนเงิน 18,546,928.89 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) โดยบริษัทฯ นำเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้าเป็นจำนวน 12 ฉบับ (ฉบับลงวันที่ตั้งแต่ 15 มกราคม 2545 - 13 ธันวาคม 2545 รวมจำนวนเงิน 11,243,660.54 บาท) ค้ำประกันการผ่อนชำระ
:            4. บริษัทฯ ได้ผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรค้างตามแบบ บ.ช.35 ข้างต้น ถึงงวดที่ 6 รวมเป็นเงิน 5,467,504.54 บาท ต่อมาบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สรรพากรจังหวัดชลบุรีว่า การยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมของบริษัทฯ ที่สส. บางนา ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เป็นการยื่นแบบผิดสาขา จึงถือว่า บริษัทฯ มิได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกัน ณ สำนักงานสาขาตั้งแต่เดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2541 บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการ ดังนี้
:                 4.1 บริษัทฯ สั่งระงับการสั่งจ่ายเงินตามเช็คอีก 6 ฉบับ ที่เหลือที่ยื่นค้ำประกันการผ่อนชำระ ณ สส.บางนา การสั่งระงับจ่ายเงินตามเช็คข้างต้นเป็นเหตุให้ สส.บางนาได้ตั้งหนี้ภาษีอากรค้างกรณีเช็คขัดข้อง ตามแบบ บ.ช.35 เลขที่ 02009470/5/100794ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 เลขที่ 02009470/5/100818 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2545 และเลขที่ 02009470/5/100824ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 รวมเป็นเงิน 3,220,500.00 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)
:                 4.2 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมปรับปรุง สำหรับเดือนภาษีตามข้อ 3 อีกครั้ง ณ สส.พานทอง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 โดยได้ชำระภาษีบางส่วนพร้อมการยื่นแบบ ภ.พ.30 และสส.พานทอง ได้ตั้งหนี้ค้างตามแบบ บ.ช.35 เลขที่ 05200050/5/100102 - 100110 ลงวันที่ 12 กันยายน 2545 รวมเป็นเงิน 17,694,189.36 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) โดยบริษัทฯ ได้ขอผ่อนชำระภาษี จำนวน 48 งวด
:                 4.3 บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 มกราคม 2546 ขอขยายเวลายื่นแบบ ภ.พ.30 และขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแจ้งว่า การที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องเพราะว่า บริษัทฯ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษีอากร บริษัทฯ ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิด อีกทั้งในการผ่อนชำระภาษีอากรตามข้อ 4.2 บริษัทฯ ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันวงเงินประมาณ 20,000,000.00 บาท ซึ่งต้องนำเงินฝากประจำให้ธนาคารอัตราร้อยละ 10 ของวงเงินประกันตลอดระยะเวลาของการค้ำประกัน พร้อมกับเสียค่าธรรมเนียมธนาคารในอัตราร้อยละ 2 กรณีดังกล่าวทำให้เกิดภาระทางการเงินของบริษัทฯ ค่อนข้างมาก บริษัทฯ จึงขอให้พิจารณาขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.พ.30 และของดหรือลดเบี้ยปรับ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
:            5. สท. กรุงเทพมหานคร 9 เห็นว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมปรับปรุงอีกครั้งตามข้อ 4.2 ดังนั้น การตั้งหนี้ค้าง ณ สส.บางนาจึงเป็นการตั้งหนี้โดยที่ไม่มีหนี้ค้างอยู่จริง สส.บางนา จึงขออนุมัติลดยอดหนี้ค่าภาษีอากรของบริษัทฯ ตามข้อ 3 และข้อ 4.1 จำนวน 21,667,424.35 บาท ซึ่งได้รับอนุมัติให้ลดยอดหนี้ตามบันทึกด่วนที่สุดที่ กค 0710/3/1563 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2546 และสำหรับการชำระภาษีบางส่วนจำนวน 5,467,504.54 บาท จากการยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมครั้งแรกที่ สส.บางนา บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืนภาษี และสท.กรุงเทพมหานคร 9 ได้พิจารณาสั่งคืน และบริษัทฯ ได้รับคืนเงินเรียบร้อยแล้ว ตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร เลขที่ DLN ภ.พ. 72-02009000-02009470-1-02-25460624-0-0-0006-00 ถึง 08 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2546
:            6. จากผลการตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นพบว่า กรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมที่จังหวัดชลบุรี จำนวนเงินทั้งสิ้น 17,766,300.05 บาท บริษัทฯ ได้ชำระภาษีพร้อมยื่นแบบ ภ.พ.30 จำนวน 72,110.69 บาท และได้ตั้งหนี้ภาษีอากรค้างตามแบบ บ.ช.35 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 จำนวน 17,694,189.36 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระภาษีตามแบบ บ.ช.35 ข้างต้นไว้ครบถ้วนแล้ว สท.กรุงเทพมหานคร 9 จึงได้ยุติการตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น
:            สภ. 2 ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า บริษัทฯได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2540 เดือนภาษีตุลาคม 2541 เดือนภาษีธันวาคม 2542 เดือนภาษีตุลาคม - เดือนภาษีธันวาคม 2543 และเดือนภาษีเมษายน - เดือนภาษีมิถุนายน 2544 เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย เป็นกรณีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายในกำหนดเวลา บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89(2) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการที่บริษัทฯ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เข้าลักษณะเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร จึงเห็นควรไม่อนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นแบบ ภ.พ.30 แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรแต่อย่างใด เพื่อสร้างความสมัครใจในการเสียภาษี เห็นควรงดเบี้ยปรับตามที่บริษัทฯ ร้องขอ
แนววินิจฉัย:             1. กรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2540 เดือนภาษีตุลาคม 2541 เดือนภาษีธันวาคม 2542 เดือนภาษีตุลาคม - เดือนภาษีธันวาคม 2543 และเดือนภาษีเมษายน - เดือนภาษีมิถุนายน 2544 เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย เป็นกรณีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายในกำหนดเวลา บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89(2) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการที่บริษัทฯ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เข้าลักษณะเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ จึงไม่อาจอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.พ.30 ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ บริษัทฯ ตามที่ร้องขอได้
:            2. กรณีบริษัทฯ ของดเบี้ยปรับนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (กพบ.) จึงขอให้รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการ กพบ. ต่อไป
เลขตู้:69/34027

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020