เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3893
วันที่: 8 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีพนักงานได้รับเงินจากการปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) มาตรา 42(17) มาตรา 48(5) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)
ข้อหารือ:             M จะปิดกิจการในวันที่ 1 มิถุนายน 2549 โดยพนักงานของ M จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ M จึงขอทราบว่า กรณีพนักงานอายุระหว่าง 58-59 ปี เป็นพนักงานของ M เกินกว่า 20 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้ว 15 ปี ไม่สามารถทำงานจนครบเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ของ M ได้ เนื่องจาก M ปิดกิจการและปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานดังกล่าว จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่พนักงานได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์หรือไม่
แนววินิจฉัย:             กรณีตามข้อเท็จจริง เงินที่พนักงานได้รับจากการเลิกจ้างเนื่องจากการปิดกิจการและปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินได้ดังกล่าวไม่ใช่เงินที่พนักงานได้รับเมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพลภาพ หรือตายตามข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ดังนั้น จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น พนักงานของ M ที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ย่อมมีสิทธิจะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34158

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020