เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3985
วันที่: 9 พฤษภาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(8) มาตรา 52 มาตรา 65 มาตรา 65 ตรี และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:             บริษัทฯ จำกัด ประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัทต่างๆ บริษัทฯ ได้หารือปัญหาภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินโดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
            1. บริษัท ก.(ผู้ขาย) ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับบริษัท ข.(ผู้ซื้อ) เนื่องจาก บริษัท ข. มีโครงการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต โดยบริษัท ข. ชำระค่าที่ดินให้บริษัท ก. ครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เพื่อรับโอนที่ดินมาเป็นของบริษัท ข.
            2. ต่อมาโครงการขยายโรงงานของบริษัท ข. ถูกยกเลิก บริษัท ข. ประสงค์จะขายที่ดินที่ซื้อจากบริษัท ก. ให้แก่บริษัท ค. โดยได้ดำเนินการดังนี้
            2.1 บริษัท ข. ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับบริษัท ค. 2.2 บริษัท ค. ชำระค่าที่ดินให้บริษัท ข. ครบถ้วน 2.3 บริษัท ข. สั่งให้บริษัท ก. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ค. เพราะสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างบริษัท ก. กับบริษัท ข. กำหนดว่า บริษัท ก. มีหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อขายให้แก่บริษัท ข. หรือบุคคลที่บริษัท ข. ระบุ 
             3. บริษัท ก.จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บริษัท ค. โดยในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินที่กรมที่ดินนั้น บริษัท ก. เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.3 และบริษัท ค. หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 1.0 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าภาษี ระบุชื่อ บริษัท ก. เป็นผู้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 
             4. จากข้อเท็จจริงข้างต้นบริษัทฯ มีความเห็นว่า
             4.1 กรณีบริษัท ก. ขายที่ดินให้บริษัท ข.
                  (1) การที่บริษัท ก. ขายที่ดินให้บริษัท ข. โดยไม่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ บริษัท ข. ยังมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง สำหรับการจ่ายเงินค่าที่ดินให้บริษัท ก. และบริษัท ก. มีสิทธินำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไปเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
                  (2) หากบริษัท ก ขายที่ดินให้บริษัท ข. โดยประสงค์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้บริษัท ข. และบริษัท ข. จ่ายค่าที่ดินให้บริษัท ก. ครบถ้วนแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัท ข. (เป็นการโอนขายที่ดินทางบัญชี) เพราะบริษัท ข.ได้ขายที่ดินต่อให้บริษัท ค. จึงสั่งให้บริษัท ก. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัท ค. บริษัท ข. ยังมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง สำหรับค่าที่ดินที่จ่ายให้บริษัท ก. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่บริษัท ก. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บริษัท ค.
             4.2 กรณีบริษัท ข. ขายที่ดินต่อให้บริษัท ค.
                  (1) การที่บริษัท ข.ขายที่ดินที่ซื้อจากบริษัท ก.ให้บริษัท ค. โดยบริษัท ข. สั่งให้บริษัท ก.จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัท ค. และบริษัท ค. ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยใบเสร็จรับเงินระบุชื่อบริษัท ก. เป็นผู้ถูกหักภาษี แต่เงินที่ถูกหักและนำส่งเป็นเงินของบริษัท ข. บริษัท ค. จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง สำหรับเงินค่าที่ดินที่จ่ายให้กับบริษัท ข. อีก
                  (2) แม้ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะเป็นของบริษัท ข. ตาม 4.2(1) แต่ บริษัท ก. นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังกล่าวมาเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ เพราะใบเสร็จรับเงินของกรมที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนระบุชื่อบริษัท ก. เป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
                  (3) บริษัท ก. นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะตาม 4.2(1) มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เพราะใบเสร็จรับเงินของกรมที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนระบุชื่อบริษัท ก. เป็นผู้จ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:             1. กรณีตาม 4.1(1) และ (2) บริษัท ก. ได้ขายที่ดินให้บริษัท ข. โดย บริษัท ข. ชำระเงินให้ครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ประสงค์จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือประสงค์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ภายหลังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ข. ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา ร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งภายใน 7 วันนับแต่วันจ่ายเงิน ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
                2. กรณีตาม 4.2 (1) (2) และ (3) บริษัท ข. ขายที่ดินที่ซื้อจากบริษัท ก. ให้บริษัท ค. โดยบริษัท ข. ให้บริษัท ก. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัท ค. ตามเงื่อนไขของสัญญาจะซื้อจะขายตามข้อเท็จจริงข้างต้น เนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งทำในขณะที่มีการจดทะเบียนเป็นสัญญาซื้อขายที่จะทำกันระหว่างบริษัท ก. กับบริษัท ค. ได้ระบุว่า มีการชำระเงินจากการขายที่ดินดังกล่าว ดังนั้น รายได้จากการขายที่ดินในวันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในกรณีนี้จึงเป็นรายได้ของบริษัท ก. ที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา ร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 65 และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัท ก. มีสิทธินำภาษีที่ถูกหักไว้และนำส่งแล้วมาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของ บริษัท ก. ตามรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกหักไว้ อีกทั้งมีสิทธินำค่าภาษีธุรกิจเฉพาะตามใบเสร็จรับเงินของกรมที่ดินมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
             กรณีเงินค่าที่ดินที่บริษัท ข. ได้รับจากบริษัท ค. อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบริษัท ก. ให้บริษัท ค โดยบริษัท ข. เป็นผู้รับเงินค่าที่ดินตามข้อตกลงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างบริษัท ก. กับบริษัท ข. ถือได้ว่า บริษัท ก.เป็นผู้โอนสิทธิการรับชำระเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากผู้ซื้อให้แก่บริษัท ข. ดังนั้น เงินค่าที่ดินที่บริษัท ข.ได้รับ จึงถือเป็นรายจ่ายของบริษัท ก. ได้ ส่วนบริษัท ข.จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34175

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020