เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5377
วันที่:27 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสถานพยาบาลเอกชนเป็นผู้เบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง
ข้อกฎหมาย:มาตรา 27 ตรี 50 ทวิ มาตรา 50(4) มาตรา 63 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              กรณีกรมบัญชีกลางจะดำเนินการให้สถานพยาบาลเอกชนเป็นผู้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีไตเทียมกับกรมบัญชีกลางโดยตรง กรมบัญชีกลางขอหารือ ดังนี้
             1. กรณีสถานพยาบาลเอกชนได้ให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้มีสิทธิ สถานพยาบาลจะต้องถูกหักภาษีเงินได้จากผู้มีสิทธิหรือไม่ อย่างไร
             2. กรณีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เข้ารับการฟอกเลือดในสถานพยาบาลเอกชน ผู้มีสิทธิต้องทดรองจ่ายและนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกเงินคืนจากส่วนราชการเจ้าสังกัด หากกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแทนผู้มีสิทธิ กรมบัญชีกลางจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่อย่างไร และอัตราเท่าใด
             3. ผู้ใดเป็นผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากในระบบ GFMIS กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้เบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจากเงินงบประมาณประเภทงบกลางให้กับสถานพยาบาลแทนส่วนราชการ
             4. กรณีมีความจำเป็นที่กรมบัญชีกลางต้องเรียกเงินคืนจากสถานพยาบาลเอกชนที่ได้ มีการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปแล้ว โดยกรมบัญชีกลางได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้ว จะต้องดำเนินการเพื่อเรียกคืนเงินภาษีที่ได้หักไว้อย่างไร
แนววินิจฉัย:             1. กรณีตาม 1. ผู้มีสิทธิซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลเอกชน ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้แก่สถานพยาบาลดังกล่าวแต่อย่างใด
             2. กรณีตาม 2. กรมบัญชีกลางใช้ระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลภายใต้นโยบายการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) มีผลทำให้ผู้มีสิทธิไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลเอกชนก่อน โดยสถานพยาบาลเอกชนจะเป็นผู้วางฎีกาเบิกเงินกับกรมบัญชีกลางโดยตรงนั้น เนื่องจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าจ้างทำของซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกรมบัญชีกลางจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลเอกชนดังกล่าว กรมบัญชีกลางมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้
                2.1 กรณีกรมบัญชีกลางจ่ายเงินได้ให้แก่สถานพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา กรมบัญชีกลางมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินให้กับผู้รับรายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 10,000 บาท โดยให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร
                2.2 กรณีกรมบัญชีกลางจ่ายเงินได้ให้แก่สถานพยาบาลซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จำนวนตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป กรมบัญชีกลางมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522
             3. กรณีสถานพยาบาลซึ่งเป็นผู้รับเงินไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมบัญชีกลางไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด อาทิเช่น
                3.1 กรณีสถานพยาบาลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งมีผลทำให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตลอดเวลาที่ได้ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น และในการนี้ในทางปฏิบัติผู้รับเงินต้องมอบเอกสารให้กับผู้จ่ายเงินเพื่อแสดงว่าผู้รับเงินได้รับสิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
                3.2 กรณีสถานพยาบาลเป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งจะประกาศเป็นคราว ๆ ไป และในทางปฏิบัติผู้รับเงินต้องมอบเอกสารให้กับผู้จ่ายเงินเพื่อแสดงว่าผู้รับเงินได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
                3.3 กรณีสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐและจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เป็นต้น
             4. กรณีตาม 3. การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กรมบัญชีกลางปฏิบัติ ดังนี้
                4.1 กรณีการจ่ายเงินตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จดแจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามระเบียบของทางราชการแล้วให้ได้รับยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 2 ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539
                4.2 กรณีการจ่ายเงินตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่จดแจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามระเบียบของทางราชการแล้ว ไม่อยู่ในบังคับต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
             5. กรณีตาม 4. กรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลเอกชนและได้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ต่อมามีเหตุให้กรมบัญชีกลางต้องเรียกคืนเงินจากสถานพยาบาลเอกชนดังกล่าว ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักและนำส่งไว้แล้วนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้
                5.1 หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้รับเงินถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้รับเงินมีสิทธิขอคืนเงินภาษีส่วนที่หักเกินไปได้ ดังนี้
                5.1.1 กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
                5.1.2 กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
                5.2 หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้รับเงินถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียผู้รับเงินต้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34315

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020