เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5379
วันที่:27 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 40(6) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตอาหารสัตว์ การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปเนื้อสัตว์ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัทฯ ได้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ ได้ว่าจ้าง WFG ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย เพื่อให้บริการวิชาชีพทางกฎหมาย กรณีกีดกันการทุ่มตลาด (Anti Dumping) ทั้งนี้ WFG จะให้บริการคำปรึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยการโทรศัพท์ เอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ โทรสาร และส่งพนักงานเข้ามาให้บริการคำปรึกษาในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ รวมแล้วไม่เกิน 90 วันภายในปีภาษีใดๆ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
             1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินค่าที่ปรึกษาให้แก่ WFG ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากกำไรธุรกิจ เมื่อ WFG ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่ง ถูกต้องหรือไม่
             2. กรณีบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งตาม 1. แล้ว หากบริษัทฯ ได้นำส่งภาษีเงินได้จากการจ่ายค่าที่ปรึกษาไว้แล้ว โดยบริษัทฯ ได้ออกภาษีแทนให้ WFG บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ที่นำส่งได้หรือไม่
             3. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0 ของเงินค่าที่ปรึกษาที่จ่ายให้แก่ WFG หรือไม่ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ นำส่งดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ได้ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1. และ 2. การให้คำปรึกษาของ WFG เป็นการให้บริการวิชาชีพทางกฎหมายอันเป็นปกติธุระค่าตอบแทนที่ WFG ได้รับจากการให้บริการดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้สูตร หรือกรรมวิธีลับ หรือเป็นข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเงินได้ประเภทค่าสิทธิ ตามนัยข้อ 12 วรรคสาม (ค) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นกำไรจากธุรกิจ กรณีตามข้อเท็จจริง WFG ส่งพนักงานเข้ามาให้คำปรึกษาในประเทศไทย ถือว่า WFG มีลูกจ้างในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ของ WFG เข้ามาให้คำปรึกษาในประเทศไทยได้ดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 90 วัน ในระยะเวลาสิบสองเดือนใด ๆ กรณีย่อมไม่อาจถือว่า WFG มีสถานประกอบการถาวรในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามนัยข้อ 5 วรรคสาม (ข)(1) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ WFG จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนจากการให้บริการวิชาชีพทางกฎหมายดังกล่าวให้แก่ WFG ในต่างประเทศ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 หากบริษัทฯ ได้หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแล้วนำส่งกรมสรรพากรพร้อมยื่นแบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้นตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ถือได้ว่า กรณีบริษัทฯ เป็นผู้เสียประโยชน์จากการออกภาษีแทนให้ WFG โดยตรงจากการนำส่งภาษีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีที่ได้หักและนำส่งไว้ดังกล่าวจากกรมสรรพากรได้ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรณีตาม 3. การให้บริการวิชาชีพทางกฎหมายของ WFG เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ WFG มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีและอัตราภาษีตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีที่มีการยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น
เลขตู้:69/34317

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020