เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./4949
วันที่:7 มิถุนายน 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำของออกจากเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย:มาตรา 77/1(11) มาตรา 77/114)(ก) มาตรา 77/1(9) มาตรา 78/2(1) มาตรา 79/2(1) มาตรา 80/1(1) มาตรา 82 และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:              ตามที่กรมศุลกากรได้มีบันทึก แจ้งว่า เนื่องจากมาตรา 10 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า "ในกรณีของที่ปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากร ให้คำนวณค่าภาษีตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากเขตปลอดอากร แต่ในกรณีที่ได้นำของที่มีอยู่ในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร โดยของที่นำเข้าไปนั้นไม่มีสิทธิได้รับการคืน หรือยกเว้นอากร ไม่ต้องนำราคาของดังกล่าวมาคำนวณค่าภาษี …" กรมศุลกากรจึงขอทราบว่า กรณีการนำของที่มีอยู่ในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร โดยของนั้นไม่มีสิทธิได้รับการคืนหรือยกเว้นอากรตามกฎหมายศุลกากรตามมาตรา 10 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ต่อมา ได้มีการนำของดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก หรือใช้สิ้นเปลืองในเขตปลอดอากร ผู้นำของเข้าและออกจากเขตปลอดอากรจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร และหากจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานใด และจะต้องนำภาษีศุลกากรในส่วนที่ไม่ต้องชำระตามมาตรา 10 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
             การให้บริการดังกล่าว โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการขนส่งเดือนละประมาณ 20 -25 ล้านบาท และค่าบริการคลังสินค้าเดือนละประมาณ 4 ล้านบาท บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการคลังสินค้าและค่าบริการขนส่งแยกต่างหากจากกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการคลังสินค้า ส่วนค่าบริการขนส่งสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
             บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบกำกับภาษีของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:             1. กรณีการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นของที่ไม่มีสิทธิได้รับการคืนหรือยกเว้นอากร เข้าไปผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการใด ๆ ในเขตปลอดอากร ต่อมาได้มีการนำของดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก หรือใช้สิ้นเปลืองในเขตปลอดอากร ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำของเข้าและนำของออกจากเขตปลอดอากรแยกพิจารณาได้ดังนี้
                1.1 กรณีการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการใด ๆ ในเขตปลอดอากร หากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออก หรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ถือเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
                1.2 กรณีการนำสินค้าที่ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการใด ๆ ในเขตปลอดอากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้นำของออกจากเขตปลอดอากรเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/2(1) และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร
             2. กรณีการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออก เนื่องจากการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก ถือเป็นการนำเข้าสินค้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ตาม 1.2 ข้างต้น ซึ่งในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีให้คำนวณโดยใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกกับอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 79/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า หมายถึง มูลค่าของสินค้านำเข้า (cost) ค่าประกันภัย (insurance) รวมทั้งค่าขนส่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (freight) โดยมูลค่าของสินค้านำเข้าดังกล่าวต้องเป็นมูลค่าของสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งจำนวน เช่น ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในราชอาณาจักร มูลค่า 100 บาท เข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการใด ๆ ในเขตปลอดอากร และต่อมาได้นำผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการใด ๆ ออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าทั้งสิ้น 500 บาท ในการคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ให้คำนวณโดยใช้มูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีการหักทอนมูลค่าของวัตถุดิบออกจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น มูลค่าของสินค้าที่นำมาใช้ในการคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าจึงมีจำนวนเท่ากับ 500 บาท มิใช่ 400 บาท เป็นต้น
เลขตู้:69/34278

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020