เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5662
วันที่: 4 กรกฎาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้
ข้อกฎหมาย:ข้อ 4(3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
ข้อหารือ:             บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิต ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง บริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้แก่บริษัทในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทในต่างประเทศค้างชำระค่าสินค้าที่ซื้อไปจากบริษัทฯ บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มาโดยตลอด และได้รับชำระหนี้บางส่วน จนกระทั่งมูลหนี้คงเหลือ 16,819,703.38 บาท ต่อมาบริษัทในต่างประเทศได้ถูกฟ้องเป็นคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลต่างประเทศมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินในต่างประเทศ เป็นจำนวนเงิน 1,558,129.30 บาท ปัจจุบันมีหนี้คงค้างเป็นจำนวนเงิน 15,261,574.08 บาท บริษัทจึงขอทราบว่า
            1. กรณีบริษัทในต่างประเทศได้เลิกกิจการ บริษัทฯ ในฐานะเจ้าหนี้มีสิทธินำมูลหนี้ค่าสินค้ามาจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ โดยถือเป็นกรณีลูกหนี้เลิกกิจการ ตามข้อ 4 (1) (ข) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้หรือไม่
            2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ จะนำขั้นตอนการขอรับชำระหนี้ของศาลต่างประเทศมาจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ตามข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1. บริษัทลูกหนี้ในต่างประเทศเลิกกิจการในกรณีที่หนี้มีจำนวนเกิน 500,000 บาท ขึ้นไป บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 4 ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 186) พ.ศ. 2534 ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 บริษัทฯ จึงจะมีสิทธิจำหน่ายหนี้จากบัญชีลูกหนี้ได้
            2. กรณีตาม 2. กรณีบริษัทฯ จะดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 4(3) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 186) พ.ศ. 2534ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้นั้น บริษัทฯ จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังนี้
                  (1) บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องในคดีล้มละลาย
                  (2) ลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และ
                  (3) ได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้วโดยจะต้องมีการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างครบถ้วนเสียก่อน บริษัทฯ จึงจะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดให้ศาลไทยยอมรับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศให้มีผลใช้บังคับในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่อาจใช้คำพิพากษา คำบังคับหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศเป็นเอกสารหลักฐานในการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ แต่อย่างใด
เลขตู้:69/34336

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020