เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6601
วันที่: 4 สิงหาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
ข้อกฎหมาย: ข้อ 5 กฎกระทรวงฉบับที่ 186 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประกอบกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 บริษัทฯ ได้ส่งสินค้า เป็นจำนวนเงิน 283,672 บาท ให้แก่บริษัทฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัทฯ ได้รับมอบสินค้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้สัญญาว่าจะชำระค่าสินค้าภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน เมื่อครบกำหนดเวลาเรียกเก็บเงิน บริษัทฯ ได้ส่งใบเรียกเก็บเงินค่าสินค้าไปยังบริษัทฯ แต่บริษัทฯ เพิกเฉยไม่ยอมชำระค่าสินค้าบริษัทฯ ได้มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินการติดตามทวงถาม บริษัทฯ ก็ยังเพิกเฉยไม่ยอมชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ยังมิได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า จะสามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 186) พ.ศ. 2534 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:       กรณีบริษัทฯ ลูกหนี้ในต่างประเทศเป็นหนี้บริษัทฯ มีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท ตามข้อเท็จจริงข้างต้นบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง (ฉบับที่ 186) พ.ศ. 2534 ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 บริษัทฯ จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดให้ศาลไทยยอมรับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศให้มีผลใช้บังคับในราชอาณาจักรไทย บริษัทฯ จึงไม่อาจใช้คำพิพากษา คำบังคับหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศเป็นเอกสารหลักฐานในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องดำเนินการฟ้องลูกหนี้ต่างประเทศเป็นคดีแพ่งต่อศาลไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว บริษัทฯ จึงจะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องตามข้อ 5 (2) แห่งกฎกระทรวง (ฉบับที่ 186)
เลขตู้:69/34411

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020