เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6491
วันที่: 2 สิงหาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษ์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 78 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ       บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นนายหน้า ตัวแทนอิสระในการจำหน่ายอาหารกระป๋องไปต่างประเทศโดยลูกค้าต่างประเทศสั่งซื้อสินค้าผ่านบริษัทฯ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อบริษัทฯ จะเป็นตัวแทนในการติดต่อผู้ผลิตในประเทศไทยเพื่อทำการผลิตสินค้าและส่งออกไปให้ลูกค้าที่สั่งซื้อยังต่างประเทศโดยตรง ในการนี้บริษัทฯ จะได้รับค่าตอบแทนเป็น ค่าคอมมิชชั่นจากผู้ผลิตสินค้าโดยคิดมูลค่าในอัตราร้อยละ 1 ของราคา FOB บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
       1. กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีและส่งมอบให้กับผู้ผลิตสินค้าก่อนที่จะได้รับชำระ ค่าคอมมิชชั่นจะถือว่า เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่
       2. กรณีการออกใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นซึ่งได้ระบุหน่วยเงินตราเป็นเงินต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันใดเพื่อคำนวณเป็นเงินตราไทย
แนววินิจฉัย       กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนนายหน้าให้กับโรงงานผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทยเพื่อการติดต่อและขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศโดยตรง การประกอบกิจการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง ข้อหารือของบริษัทฯ อาจพิจารณาได้ ดังนี้
       1. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ หรือบริษัทฯ จะเลือกออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ได้ซึ่งในกรณีหลังนี้ถือว่า ภาระภาษีได้เกิดขึ้นทันทีที่ได้ออกใบกำกับภาษี โดยบริษัทฯ ต้องนำจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1(1) มาตรา 82/3 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีและส่งมอบให้แก่ผู้ผลิตสินค้าก่อนที่จะได้รับชำระเงินค่าคอมมิชชั่นถือว่า บริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องแล้ว
       2. กรณีบริษัทฯ ตกลงค่าคอมมิชชั่นเป็นเงินต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีโดยคำนวณเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นเงินตราไทย โดยบริษัทฯ มีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการดังต่อไปนี้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
        (ก) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน
        (ข) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน
        การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการหนึ่งวิธีการใดแล้ว ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548
เลขตู้:69/34400

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020