เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8623
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการที่ประกอบ
กิจการอยู่ในเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 87 และมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นิคมอุตสาหกรรมฯ จังหวัดระยอง บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับบริษัท ก. ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรอีกแห่งหนึ่ง โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจัดส่งสินค้าเข้าไปเก็บที่คลังสินค้าซึ่งอยู่ในเขตปลอดอากรของบริษัท ก. และคลังสินค้าดังกล่าว จะทำหน้าที่จัดเก็บสินค้าที่บริษัทฯ ได้ส่งเข้าไปและจัดส่งให้กับบริษัท ก. เมื่อบริษัท ก. ได้แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการเบิกสินค้าไปเพื่อการผลิต กรรมสิทธิ์และความเสี่ยงในสินค้าที่บริษัทฯ ได้จัดส่งเข้าไปอยู่ในคลังสินค้ายังคงเป็นของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรเพื่อส่งไปให้กับคลังสินค้าในอีกเขตปลอดอากรหนึ่ง บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องสำแดงเอกสาร (ใบโอนย้ายและใบกำกับภาษี) ให้กรมศุลกากรเพื่อโอนสินค้าออกและโอนสินค้าเข้าไปยังคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรของบริษัท ก. บริษัทฯ จึงต้องออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0 จัดทำรายงานภาษีขาย และรับรู้ยอดขาย ตั้งแต่วันที่ออกใบกำกับภาษี แต่เงื่อนไขการค้าได้ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังบริษัท ก. จนกว่าคลังสินค้าจะได้ส่งสินค้าไปให้บริษัท ก. ดังนั้น การรับรู้รายได้ตามใบกำกับภาษีจึงไม่เป็นไปตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ทำให้เกิดการขัดแย้งกันใน
แนวทางปฏิบัติ หลังจากที่บริษัท ก. ได้นำสินค้าไปใช้แล้ว คลังสินค้าซึ่งเป็นบุคคลที่สามซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการบริหารคลังสินค้า จะทำรายงานการเคลื่อนไหวในแต่ละอาทิตย์ และบริษัทฯ มีหน้าที่จัดทำใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ไปให้ลูกค้าในวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ เพื่อเป็นการโอนกรรมสิทธิ์และความเสี่ยงไปยังลูกค้าต่อไป บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
:      1. เมื่อมีการโอนย้ายสินค้าจากบริษัทฯ ไปยังคลังสินค้าในเขตปลอดอากรของ บริษัท ก. บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีเพื่อลงรายงานภาษีขายและยื่นแบบ ภ.พ. 30 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่ยังไม่บันทึกรับรู้รายได้ของบริษัทฯ ตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ได้หรือไม่ อย่างไร
:      2. รายงานการเคลื่อนไหวของสินค้าจะต้องจัดทำรายงานโดยอ้างอิงตามใบกำกับภาษี หรือตามการรับรู้รายได้
:      3. ยอดขายตามแบบ ภ.ง.ด.50 และแบบ ภ.พ.30 จะแตกต่างกันหรือไม่
แนววินิจฉัย:        1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากรบริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้บริษัท ก. ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรอีกแห่งหนึ่ง โดยบริษัทฯ ต้องจัดส่งสินค้าเข้าไปเก็บในคลังสินค้าของบุคคลที่สามที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเดียวกันกับบริษัท ก. และคลังสินค้าดังกล่าว จะทำหน้าที่จัดเก็บสินค้าที่บริษัทฯ ได้ส่งเข้าไปพร้อมทั้งจัดส่งให้บริษัท ก. เมื่อได้รับแจ้งจากบริษัทฯ สินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าดังกล่าว ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ กรรมสิทธิ์จะโอนไปยังบริษัท ก. เมื่อได้มีการเบิกสินค้าจากคลังสินค้า พิจารณาภาระภาษีได้ดังนี้
:      1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ได้ส่งสินค้าเข้าไปเก็บในคลังสินค้าของบุคคลที่สามที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเดียวกันกับบริษัท ก. ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าอยู่จนกว่าบริษัท ก. จะเบิกสินค้าออกจากคลังสินค้า ดังนั้น วันที่รับรู้รายได้สำหรับการขายสินค้าของบริษัทฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้กับบริษัท ก. ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2528
:      1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ ได้ส่งสินค้าเข้าไปเก็บในคลังสินค้าของบุคคลที่สามที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเดียวกันกับบริษัท ก. ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากรต่างเขตปลอดอากร บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 โดยบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตามมาตรา 80/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 123) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการขายสินค้าหรือการให้บริการบางกรณี ตามมาตรา 80/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2545 ดังนั้น บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีพร้อมกับส่งมอบให้แก่บริษัท ก. ผู้ซื้อ และลงรายการในรายงานภาษีขาย ทั้งนี้ ตามมาตรา 86 มาตรา 86/4 และมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร
:      2. บริษัทฯ ต้องลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบที่รับมาหรือจ่ายไปจริง โดยอ้างอิงตามใบสำคัญรับหรือจ่ายสินค้าและให้ลงรายการภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่รับมาหรือจำหน่ายออกไปซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ ตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงานการเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
:      3. ยอดขายตามแบบ ภ.ง.ด.50 และแบบ ภ.พ.30 จะแตกต่างกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการเสียภาษีแต่ละประเภท
เลขตู้:69/34577

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020