เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8729
วันที่: 17 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยื่นรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ถูกเพลิงไหม้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(14) และมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:       ศูนย์กระจายสินค้าต่างประเทศของบริษัทฯ เกิดเพลิงไหม้ทำให้สินค้าสำเร็จรูปที่บริษัทฯ ได้ขายและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศแล้วแต่อยู่ระหว่างรอการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 180 วัน ตามเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0ได้รับความเสียหายทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้การยื่นรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่รอการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
       1. บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับการขายสินค้าดังกล่าวหรือไม่
       2. กรณีที่ผู้ซื้อสินค้าไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทยแต่ได้สั่งซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์สินค้าดังกล่าวไว้แล้ว ผู้ซื้อสินค้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และในอัตราใด
       3. หากบริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ จะมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระไปแล้วมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

:      กรณีบริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เนื่องจากการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศนั้นต้องปรากฏว่า ได้มีการดำเนินพิธี การศุลกากรและได้มีการนำสินค้านั้นออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า สินค้าที่บริษัทฯ รอการส่งออกนั้นยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศเมื่อสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายทั้งหมดเนื่องจากถูกไฟไหม้ บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 77/1 (14) และมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรอย่างไรก็ตาม
       เมื่อบริษัทฯ ได้ขายสินค้าและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าไปแล้ว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้แก่ลูกค้า ตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 78 (1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้:69/34603

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020