เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./8629
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง:        ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนสถานประกอบการจากการฝากสินค้าในคลังสินค้า
ข้อกฎหมาย:       มาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:      บริษัท อ. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการให้บริการคลังสินค้า รับฝากสินค้า บริการสินค้าผ่านท่าเรือ จอดเรือการให้บริการคลังสินค้าอยู่ภายใต้กำกับดูแลของ กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์บริษัทฯ มีคลังสินค้าที่จดทะเบียนสถานประกอบการ 2 แห่งซึ่งประกอบกิจการให้บริการรับฝากสินค้าจากลูกค้าโดยบริษัทในฐานะนายคลังสินค้าจะออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้แก่ลูกค้าเป็นหลักฐานการฝากสินค้า ชนิดใด จำนวนเท่าใด บริษัทฯ มีลูกค้ามากกว่าร้อยราย การรับฝากจะมีระยะเวลาการฝากต่างๆ กัน เช่น เป็นครั้งคราว ต่อเนื่องกว่า2 สัปดาห์ 1 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น ลูกค้าจะเป็นผู้มาเบิกสินค้าในเวลาทำการของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย สูญหาย ของสินค้าที่รับฝากไว้ในโกดัง และเรียกบำเหน็จรับฝากสินค้าเป็นรายเดือนบวกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เมื่อลูกค้าเบิกสินค้าหมดจะต้องเวนคืนใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้แก่นายคลังสินค้า บริษัทฯ จึงขอหารือว่าลูกค้าที่นำสินค้ามาฝากในคลังสินค้า จะต้องแจ้งคลังสินค้าเป็นสถานประกอบการของลูกค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่เพราะเหตุใด

แนววินิจฉัย

:      บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบกิจการรับฝากสินค้าในฐานะคลังสินค้าโดยได้รับค่าบำเหน็จเป็นรายเดือน ตามมาตรา 770 และมาตรา 778 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีลูกค้าที่นำสินค้ามาฝากในคลังสินค้าโดยไม่มีสิทธิครอบครองในสถานที่ดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นสถานที่เก็บสินค้าเป็นประจำ ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ลูกค้าผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ฝากสินค้าไว้ที่คลังสินค้า จึงไม่ต้องจดทะเบียนสถานประกอบการแต่อย่างใด

เลขตู้:69/34582

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020