เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8630
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง:      ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศส่งเงินค่าใช้จ่ายเข้ามาให้กับตัวแทนหรือสาขาในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย:      มาตรา 65 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 79/3(1) มาตรา 82/4 มาตรา 77/1(18) มาตรา 40(1)(8) มาตรา 50(1) มาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ข้อ 6(2), 12/1(2)
ข้อหารือ:      สถาบันสิ่งแวดล้อมต่างประเทศ (S) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทองค์การกุศล ตามกฎหมายของประเทศ จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาสังคมร่วมกับองค์กรต่างๆ และบุคคลทั่วไป และเผยแพร่ความรู้โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสวีเดน เมื่อปี พ.ศ. 2542 S ตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย เพื่อดำเนินงานโดยมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ดังนี้
:      1. S สำนักงานสาขาฯ ได้จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงานและเศรษฐศาสตร์ให้แก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยไม่คิดค่าตอบแทน S สำนักงานสาขาฯ ไม่มีรายได้จากการดำเนินงานในประเทศไทย สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเป็นผู้ส่งเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาให้ ทั้งนี้ ตามข้อตกลงระหว่าง S กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 9 มกราคม 2549
:      2. S สำนักงานสาขาฯ ได้นำเงินที่ส่งมาจากสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศไปบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย เช่น บริจาคเงินให้แก่มหาวิทยาลัยของรัฐ
:      3. S สำนักงานสาขาฯ ได้ทำสัญญาเช่าอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงาน โดยมีบริษัท ก. จำกัด เป็นผู้ให้เช่า ต่อมาอาคารที่ให้เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็น จำกัด S สำนักงานสาขาฯ จึงจ่ายเงินค่าเช่าอาคารและเงินค่าบริการส่วนกลางตามสัญญาเช่าดังกล่าว ให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ฯ ผู้รับโอนเป็นเงิน เดือนละ 77,000 บาท S สำนักงานสาขาฯ ขอทราบว่า
:      1. กรณี S สำนักงานสาขาฯ ได้รับเงินจาก S สำนักงานใหญ่เพื่อการจัดสัมมนาและเพื่อการบริจาคในประเทศไทย S สำนักงานสาขาฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่
:      2. กรณี S สำนักงานสาขาฯ จัดสัมมนาในประเทศไทย S สำนักงานสาขาฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อีกทั้งมีสิทธิเครดิตภาษีซื้อค่าบริการส่วนกลาง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บหรือไม่
:      3. S ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีต่อไปนี้ หรือไม่
(1) กรณีบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยของรัฐ
(2) กรณีจ่ายเงินเดือนให้พนักงานซึ่งทำหน้าที่จัดสัมมนาในประเทศไทยทั้ง 7 คน
(3) กรณีจ่ายเงินค่าเช่าอาคารสำนักงานและเงินค่าบริการส่วนกลางให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เอ็น จำกัด
:      4. พนักงานฯ และ S สำนักงานสาขาฯ จะต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย:        1. กรณีสำนักงานใหญ่ส่งเงินเข้ามาให้สำนักงานสาขาฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาหรือเพื่อการบริจาคในประเทศไทย เนื่องจากสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ และสำนักงานสาขาฯ ในประเทศไทยเป็นนิติบุคคลเดียวกัน การส่งเงินเข้ามาให้สำนักงานสาขาฯ เข้าลักษณะเป็นเงินทุนของตนเอง ไม่ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของสำนักงานสาขาฯ ในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
:      2. กรณี S สำนักงานสาขาฯ จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงานและเศรษฐศาสตร์ให้แก่หน่วยงาน ดังนี้
(1) สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐในประเทศไทย โดยไม่คิดค่าตอบแทน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดย S สำนักงานสาขาฯ มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อจากค่าบริการส่วนกลาง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามมาตรา 77/1(18) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดของการให้บริการนั้น เพื่อเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม S สำนักงานสาขาฯ จึงไม่ต้องนำมูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) รัฐวิสาหกิจในประเทศไทย โดยไม่คิดค่าตอบแทน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดย S สำนักงานสาขาฯ มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อจากค่าบริการส่วนกลาง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาและค่าโทรศัพท์ที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บ ตามมาตรา 77/1(18) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
:      3. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อาจพิจารณาได้ ดังนี้
(1) กรณี S สำนักงานสาขาฯ จ่ายเงินเพื่อการบริจาคซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้มหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
(2) กรณีจ่ายเงินเดือนตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้พนักงานที่ทำงานในประเทศไทย จำนวน 7 คน โดย S สำนักงานใหญ่เป็นผู้จ่ายให้พนักงานในต่างประเทศ จำนวน 3 คน และ S สำนักงานสาขาฯ เป็นผู้จ่ายให้พนักงานในประเทศไทย จำนวน 4 คน S สำนักงานสาขาฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินเดือนของพนักงานเหล่านั้น ไม่ว่าจะได้รับจากสาขาหรือสำนักงานใหญ่
(3) กรณี S สำนักงานสาขาฯ จ่ายเงินค่าเช่าหรือเงินค่าบริการส่วนกลางให้บริษัท บริหาร-สินทรัพย์ฯ S สำนักงานสาขาฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินค่าเช่าในอัตราร้อยละ 5.0 และจากเงินค่าบริการส่วนกลางซึ่งเป็นเงินได้จากการให้บริการ ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 6(2) และข้อ 12/1(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
:      4. กรณีการขอมีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร อาจพิจารณาได้ ดังนี้
(1) กรณีพนักงานผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นคนไทยที่มีและใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนในการยื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวใน
การปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2549
(2) กรณีพนักงานผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นคนต่างด้าวไม่มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 วรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัว
ในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2549
(3) กรณี S สำนักงานสาขาฯ ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรต้องยื่นคำร้องขอมีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรก่อนวันที่จ่ายเงินได้ตามมาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3)(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัว
ในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545

เลขตู้:69/34583

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020