เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8637
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดห
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/10(1) ประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 82)ฯ และมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:        บริษัท P นำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า Caliper โดยเสียอากรขาเข้าในอัตราประมาณร้อยละ 10 บริษัทฯ ได้ขายCaliper ให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทผลิตรถยนต์เพื่อใช้ในการผลิตรถยนต์ ซึ่งบริษัทลูกค้าได้จำหน่ายรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งภายในประเทศและส่งออก หากแต่จำนวนที่ส่งออกไม่สามารถทราบได้แน่นอนในเวลาที่ซื้อ Caliper จากบริษัทฯ บริษัทฯ ได้กำหนดราคาขายโดยคำนวณจากราคาต้นทุนจริงรวมอากรขาเข้าของวัตถุดิบ เมื่อบริษัทฯ ได้ขอคืนอากรขาเข้าจากกรมศุลกากรโดยวิธีส่งออกทางอ้อมผ่านลูกค้าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เมื่อมีการส่งออกรถยนต์จริงแล้ว บริษัทฯ จะคืนอากรขาเข้าที่ได้รับคืนจากกรมศุลกากรให้ลูกค้าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งจำนวน บริษัทฯ ขอทราบว่า
        1. ในการออกใบลดหนี้เพื่อคืนอากรขาเข้าให้บริษัทลูกค้า บริษัทฯ ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
        2. บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 จากยอดส่วนลดอากรขาเข้าที่จ่ายคืนให้บริษัทลูกค้า หรือไม่
        3. เนื่องจากบริษัทฯ คืนอากรขาเข้าที่ได้รับคืนทั้งจำนวนให้บริษัทลูกค้า บริษัทฯ ต้องถืออากรขาเข้าดังกล่าวที่ได้รับจากกรมศุลกากรเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้ของบริษัทฯ หรือไม่
แนววินิจฉัย:        1. กรณีบริษัทฯ นำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตสินค้า Caliper และขายสินค้า Caliper ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อใช้ในการผลิตรถยนต์ที่จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก โดยกำหนดราคาขายสินค้าในราคาต้นทุนจริงรวมอากรขาเข้า เมื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้ส่งออกรถยนต์ที่ผลิต บริษัทฯ จึงเป็นผู้ส่งออกทางอ้อมโดยใช้ใบขนสินค้าขาออกของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เป็นหลักฐานยืนยันการส่งออกสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่นำเข้า และเมื่อบริษัทฯ ได้รับคืนเงินค่าอากรขาเข้าจากกรมศุลกากร บริษัทฯ จะคืนเงินทั้งหมดให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ กรณีดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะที่จะออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 แต่บริษัทฯ ต้องออกใบลดหนี้ทางการค้าที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นเอกสารทางบัญชีในการปรับปรุงรายการทางบัญชีเท่านั้น
        2. กรณี บริษัทฯ ได้ขายสินค้า Caliper ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งกำหนดราคาขายโดยคำนวณราคาต้นทุนจริงรวมอากรขาเข้า เมื่อบริษัทฯ คืนอากรขาเข้าที่ได้รับคืนจากกรมศุลกากรให้กับบริษัท (ผู้ซื้อ) บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายจากยอดอากรขาเข้าที่บริษัทฯ จ่ายคืนแต่อย่างใด
        3. บริษัทฯ ได้ขายสินค้าในราคาของต้นทุนจริงรวมอากรขาเข้า ที่เป็นมูลค่าในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วเมื่อบริษัทฯ ออกใบลดหนี้จากการคืนอากรขาเข้าให้กับบริษัท (ผู้ซื้อ) บริษัทฯ มีสิทธินำใบลดหนี้ดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34586

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020