เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8651
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนตราสารหนี้
ข้อกฎหมาย: ตามมาตรา 40(4)(ก) มาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)
ข้อหารือ:     1. กรณีบุคคลธรรมดาลงทุนในตั๋วเงินคลัง (กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก) ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการขายแบบมีส่วนลดแทน หากบุคคลธรรมดาได้ซื้อตั๋วเงินคลังดังกล่าวจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารพาณิชย์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
     2. กรณีบริษัท ข ออกตั๋วแลกเงินแบบขายส่วนลด ขายให้ นาย ก และเมื่อ นาย ก ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15.0 โดยบริษัท ข ต้องเป็นผู้มีหน้าที่หักและนำส่งกรมสรรพากร แต่ต่อมานาย ก ได้ขายตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวให้กับบุคคลธรรมดานาย ค โดยที่ตั๋วดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดตามที่ได้ระบุไว้บนหน้าตั๋วดังกล่าว นาย ค จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้จากส่วนลดจากการลงทุนในตั๋วแลกเงินที่ออกโดย บริษัท ข หรือไม่ อย่างใด
แนววินิจฉัย:     1. กรณีตาม 1 การขายลดตั๋วเงินคลังครั้งแรกของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปให้แก่บุคคลธรรมดาเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ของผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินคงคลัง ตามมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
     2. กรณีตาม 2 การขายตั๋วแลกเงินของบริษัท ข ให้นาย ก และนาย ก ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 แล้ว เมื่อนาย ก ขายให้ นาย ค โดยนาย ค ถือตั๋วแลกเงินจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนแล้วนำไปไถ่ถอนกับบริษัท ข เมื่อผู้ทรงคนแรก (นาย ก) ได้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้ประทับตราว่า ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้บนตั๋วแลกเงินแล้ว นาย ค. จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(30)(ค) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร บริษัท ข จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
เลขตู้:69/34589

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020