เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9722
วันที่: 22 พฤศจิกายน 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกรณีเงินได้จากการขายอ้อยของชาวไร่อ้อย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      นาง ส. มีรายได้จากการขายน้ำมันใส และรายได้จากการทำไร่อ้อย โดยขายอ้อยให้กับบริษัท น. ซึ่งบริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ0.75 และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปีภาษี 2548 ด้วยแบบภาษี ภ.ง.ด. 93 และสำหรับปีภาษี 2549 ด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3 และ ตามข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 สำหรับปีภาษี 2548 ปรากฏว่า นาง ส. ไม่ได้นำรายได้จากการขายอ้อย มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน โดยอ้างว่า สถาบันชาวไร่อ้อยตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ได้เคยมีการตกลงกับกรมสรรพากรว่า ในทางปฏิบัตินั้น เนื่องจากชาวไร่อ้อยเป็นเกษตรกรที่มีความรู้น้อย ไม่ค่อยเข้าใจระบบภาษี ไม่สะดวกที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงขอยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยชาวไร่อ้อยไม่ขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ในอัตราร้อยละ 0.75 และถือปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้ว
แนววินิจฉัย:      1. กรณีนาง ส. มีรายได้จากการขายน้ำมันใสและรายได้จากการขายอ้อย ถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการประกอบธุรกิจหรือการพาณิชย์ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร หากมีรายได้ดังกล่าวถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดนาง ส. ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง คือยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ภายในเดือนกันยายน ของปีภาษี และยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมีนาคม ของปีถัดไป ตามมาตรา 56 ทวิ และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร
      2. กรณีนาง ส. ถูกบริษัทฯ ผู้ผลิตน้ำตาลผู้จ่ายเงินได้จากการขายอ้อย ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 0.75 และนำส่งภาษีไว้แล้ว กรณีดังกล่าว นาง ส. ผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกรมสรรพากรได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 0.75 สำหรับการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป ตามข้อ 3 (5) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 69/34650

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020