เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10141
วันที่: 12 ธันวาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขายหุ้นและการลดทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บริษัท ท. ต้องการที่จะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยจะต้องดำเนินการลดทุนเฉพาะเจาะจงในหุ้นของ ท. เพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีรายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินธุรกรรม ดังนี้
      1. ขั้นตอนการทำ IPO โครงสร้างภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ภายหลังการได้รับการอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ท. จะทำการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป ประมาณ 44 ล้านหุ้น (16 ล้านหุ้นเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่ของ ท. และอีก 28 ล้านหุ้นเป็นหุ้นเก่าของ ท. ที่ถือโดย ม. ที่จะนำเสนอขายด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนำ ท. เข้าจดทะเบียน ซึ่งจะต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนชำระแล้วของ ท. ภายหลังการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ซึ่งจะนับส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมกันทั้งหุ้นที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสิงคโปร์ ) ซึ่งราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปนั้นจะเป็นราคาที่กำหนด โดยกระบวนเสนอขายหุ้น IPO ตามปกติและราคาจะอ้างอิงกับราคาตลาดของ ท. ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
      2. ขั้นตอนในการเพิกถอน ม. จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนภายหลังจากที่ ท. ได้เสนอขายหุ้น IPO และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ท. จะขอมติผู้ถือหุ้นของตนในการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) ของ ม. จากผู้ถือหุ้นของ ม. ทุกราย เพื่อทำการเพิกถอน ม. จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ ในการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ม. นั้น ท. จะเสนอทางเลือกในการชำระค่าหุ้น ม. เป็นเงินสดหรือเป็นหุ้นของ ท. ให้กับผู้ถือหุ้นของม. ทุกรายโดยเท่าเทียมกัน
      ภายใต้ข้อสมมติฐานที่ผู้ถือหุ้น ม. รับชำระค่าหุ้นของ ม. โดยใช้หุ้น ท. แทนเงินสด ดังนั้น เมื่อส่งมอบและชำระค่าหุ้นเสร็จเรียบร้อยจะพบว่า ท. จะเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ใน ม. โดย ม. จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใน ท. อยู่ในจำนวน ประมาณ 170 ล้านหุ้น จนกว่าจะมีการลดทุนในขั้นตอนต่อไป โดย ม. จะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติ
      (1) เพิกถอนการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
      (2) มีมติยินยอมให้ให้ ท. ทำการลดทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Selective Capital Reduction) กล่าวคือ ท. จะทำการลดทุนโดยการคืนเงินลงทุนในหุ้นจำนวนประมาณ 170 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท ให้ ม.
      บริษัทฯ ขอหารือเกี่ยวกับประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
      1. ภาระภาษี ในขณะที่ ม. และ ท. ทำการขายหุ้นในการทำ IPO
      2. ภาระภาษีในขณะที่ ท. ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ม. กับผู้ถือหุ้นทุกราย โดยให้ผู้ถือหุ้นของ ม. เลือกที่จะรับชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดหรือเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่ของ ท.
      3. ภาระภาษีในขณะที่ ท. ทำการลดทุนแบบเฉพาะเจาะจงจำนวนประมาณ 170 ล้านหุ้นที่ถือโดย ม. ตามที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท การลดทุนแบบเฉพาะเจาะจงในส่วนของหุ้นจำนวนประมาณ 170 ล้านหุ้น ที่ ม. ถืออยู่ในบริษัท ท.
แนววินิจฉัย:      1. กรณีตาม 1. ภาระภาษีในขณะที่ ม. และ ท. ทำการขายหุ้นในการทำ IPO
      (1) กรณี ม. ได้ขายหุ้น ท. ที่ถือไว้จำนวน 28 ล้านหุ้น ม. จะต้องนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
      (2) กรณี ท. ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนของ ท. การขายหุ้นเพิ่มทุนถือเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
      2. กรณีตาม 2. ภาระภาษีในขณะที่ ท. ทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ม. กับผู้ถือหุ้นทุกรายของ ม.
      (1) กรณีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาและมีกำไรจากการขายหุ้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(23) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509
      (2) กรณีผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและมีรายได้จากการขายหุ้น ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
      3. กรณีตาม 3. ภาระภาษีในขณะที่ ท. ทำการลดทุนแบบเฉพาะเจาะจงจำนวนประมาณ 170 ล้านหุ้นในส่วนของ ม. ที่ถืออยู่ใน ท. เพื่อไม่ให้เกิดการถือหุ้นไขว้กันตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยการซื้อหุ้น ท. คืนจาก ม. ตามมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (par) 10 บาท ม. ต้องนำรายได้จากการโอนหุ้นดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากการโอนหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอนได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34684

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 05-01-2021