เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10948
วันที่: 27 ธันวาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      กรณีที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อหุ้น ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจการค้าโดยปกติของบริษัทฯ ดังนั้น ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหุ้นนั้น บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยบริษัทฯ แบ่งเป็น 2 ส่วนในการลงบันทึกบัญชี ได้แก่
      1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหุ้นมา ถือว่าหุ้น (ทรัพย์สิน) นั้นยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ บริษัทฯ จะถือดอกเบี้ยจ่ายในการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นต้นทุนของหุ้น หรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
      2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทฯ มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นวันที่หุ้น (ทรัพย์สิน) นั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน แต่บริษัทฯ นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
      กรณีตาม 1. และ 2. บริษัทฯ เข้าใจว่า ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป (ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว) ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ บริษัทฯ เข้าใจถูกต้องแล้วหรือไม่
แนววินิจฉัย:      กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ นำเงินกู้ยืมไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่ง บริษัทฯ มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้ โดยไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34705

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020