เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10127
วันที่: 12 ธันวาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บุคคลธรรมดาผู้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ (ผู้เลี้ยง) ซึ่งทำสัญญารับจ้างเลี้ยงไก่ให้กับบริษัทคู่สัญญา(บริษัทฯ ) โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ 2 ลักษณะ ดังนี้
      1. ผู้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ (ผู้เลี้ยงฯ ) แบบประกันราคา เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด มีขั้นตอนการเลี้ยง ดังนี้
         (1) ผู้เลี้ยงฯ จะต้องนำหลักทรัพย์ไปค้ำประกันการเลี้ยงไก่ ซึ่งอาจจะเป็นโฉนดที่ดินหรือให้ธนาคารค้ำประกันตามจำนวนเงินที่ตกลงกัน และผู้เลี้ยงฯ จะได้รับพันธุ์ลูกไก่ อาหารสัตว์และวัคซีนที่บริษัทฯ ขายให้
         (2) บริษัทฯ ไม่ได้เรียกเก็บเงิน ค่าพันธุ์ลูกไก่ ค่าอาหารสัตว์ และค่าวัคซีนจาก ผู้เลี้ยงฯ ในขณะที่บริษัทฯ ส่งมอบพันธุ์ลูกไก่ อาหารสัตว์และวัคซีน แต่จะนำราคาดังกล่าวไปหักกับราคาที่คู่สัญญากำหนดขณะเมื่อส่งมอบไก่ให้บริษัทฯ เมื่อไก่เติบโตและมีขนาดตามต้องการผู้เลี้ยงฯ จะต้องไปขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ (ไก่) ตามกฎหมายก่อนจึงแจ้งให้บริษัทฯ ทราบ
         (3) บริษัทฯ เป็นผู้นำไก่ไปชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณหาราคารับซื้อไก่ โดยคิดราคารับซื้อไก่ ตามน้ำหนักของไก่ คูณด้วยราคาประกัน (ตามที่สัญญากำหนด) และจะหักค่าพันธุ์ลูกไก่ ค่าอาหารสัตว์ และค่าวัคซีน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆตามที่ระบุในแบบฟอร์มทีมีการเรียกชื่อต่างๆกัน เช่นใบชั่งน้ำหนัก ใบสรุปผลตอบแทนการเลี้ยงไก่ รายงานสรุปบัญชีการเลี้ยงไก่แบบประกันราคา และบริษัทฯ โอนราคาที่เหลือจากการคำนวณข้าบัญชีของผู้เลี้ยงฯ
         (4) กรณีผู้เลี้ยงฯ เลี้ยงไก่ไม่ได้ขนาดตามข้อตกลงหรือเกิดความเสียหายอันเป็นเหตุให้ราคาที่ได้รับจากการขายไก่แบบประกันราคาไม่เพียงพอกับค่าพันธุ์ลูกไก่ ค่าอาหารสัตว์และค่าวัคซีน ผู้เลี้ยงฯ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ครบถ้วน โดยบริษัทฯ จะหักจากเงินค่าเสียหายในการเลี้ยงไก่คราวต่อๆ ไป
      2. ผู้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ (ผู้เลี้ยงฯ ) แบบรับจ้างเลี้ยง เป็นผู้มีหน้าที่จัดเตรียมโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ให้มีขนาดตามที่บริษัทฯ กำหนด และบริษัทฯ เป็นผู้จัดหาพันธุ์ลูกไก่ อาหารสัตว์ และวัคซีน ตลอดจนสัตวบาล (ผู้เลี้ยงและดูแลสัตว์) มาให้คำแนะนำแก่ผู้เลี้ยงโดยไม่คิดค่าตอบแทน แต่ผู้เลี้ยงฯ จะต้องเลี้ยงไก่ให้ได้ขนาดตามข้อตกลง และหากการคำนวณราคาปรากฏว่าค่าความสูญเสียน้อยกว่าที่บริษัทฯ กำหนด ผู้เลี้ยงฯ จะได้เงินค่าตอบแทนตามราคาที่เหลือจากการคำนวณ
      การเลี้ยงไก่ทั้งสองกรณีดังกล่าว ผู้เลี้ยงฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบบริหารจัดการฟาร์มเองทั้งหมด ได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และค่าแกลบ
แนววินิจฉัย:      1. สัญญาเลี้ยงไก่ ซึ่งผู้เลี้ยงฯ ตกลงรับจะทำการเลี้ยงไก่ให้มีน้ำหนักและขนาดตามที่กำหนดให้บริษัทฯ และบริษัทฯ ตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จในการเลี้ยงไก่นั้น (ตามน้ำหนักและขนาดของไก่) สินจ้างที่ผู้เลี้ยงฯ ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้รับจ้างเลี้ยงไก่มีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการนั้นได้ เช่น มีการจัดสำนักงานในการประกอบกิจการ ไม่ว่าโดยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือมีการเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐานการเช่ามาแสดง มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อเลี้ยงไก่ มีการจ้างลูกจ้างโดยมีหลักฐานการจ้างแรงงานเป็นต้น สินจ้างหรือเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการรับจ้างเลี้ยงไก่ดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
      2. กรณีสัญญารับจ้างเลี้ยงไก่ตาม 1. บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทนผู้เลี้ยงฯ ไปก่อน ได้แก่ ค่าพันธุ์ลูกไก่ อาหารสัตว์และวัคซีน เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างเลี้ยงไก่แก่ผู้เลี้ยงฯ บริษัทฯ จะหักค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายล่วงหน้าออกจากราคาค่าจ้างเลี้ยงไก่ที่จะต้องจ่ายแก่ผู้เลี้ยงฯ ภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกหักออกจากเงินค่าเลี้ยงไก่ จึงเป็นต้นทุนที่เกิดจากการรับจ้างเลี้ยงไก่ เมื่อผู้เลี้ยงฯ เป็นผู้รับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรับจ้างเลี้ยงไก่ เงินได้พึงประเมินที่ผู้เลี้ยงฯ ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักค่าพันธุ์ลูกไก่ ค่าอาหารสัตว์และค่าวัคซีน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้เลี้ยงฯ
เลขตู้: 69/34673

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020