เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./10133
วันที่: 2 ธันวาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทต่างประเทศว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 78/1(1) และมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      กรณีบริษัทต่างประเทศว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า
      1. บริษัทฯ สถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศเดนมาร์ก ประกอบกิจการพัฒนาและขายระบบควบคุม (Monitoring System) ซึ่งใช้ติดกับตู้เก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร (Container) เพื่อควบคุมอุณหภูมิของตู้เก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร (Container) ในระหว่างการขนส่งสินค้า โดยหน่วยควบคุมอุณหภูมิ (Control Unit) ประกอบด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะถูกติดตั้งอยู่ในกล่องเหล็กที่มีความหนาและแข็งแรงพิเศษ
      2. บริษัทฯ มีความประสงค์จะว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Filter) และอุปกรณ์โลหะ (Metal Part) โดยบริษัทฯ เข้าใจว่า เนื่องจากการผลิตอุปกรณ์ทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก จึงเป็นการยากที่บริษัทในประเทศไทยบริษัทเดียวจะทำการผลิตอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดได้ บริษัทฯ จึงจะว่าจ้างบริษัทในประเทศไทย 2 บริษัท กล่าวคือ บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทผลิตอุปกรณ์โลหะ เพื่อผลิตสินค้าตามที่บริษัทฯ ต้องการ โดยบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องส่งสินค้าที่ผลิตเสร็จให้แก่บริษัทผลิตกล่องโลหะเพื่อนำไปบรรจุในกล่องโลหะก่อนปิดผนึกกล่องโลหะ และส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร
      3. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ตั้งอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อบริษัทในประเทศไทยออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าจ้าง บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:      หากบริษัทในประเทศไทยประกอบกิจการรับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และได้ผลิตสินค้าดังกล่าวตามคำสั่งของบริษัทฯ ในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งรูปแบบ พร้อมทั้งรายละเอียดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนด การรับจ้างผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการออกใบกำกับภาษี หรือได้ใช้บริการไม่ว่าตนเองหรือบุคคลอื่น ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 78/1(1) และมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34677

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020