เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2079
วันที่: 18 มีนาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการพิจารณาคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48 และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ว. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) ปีภาษี 2547 ขอคืนภาษีจำนวน 241,460.30 บาท จาก การวิเคราะห์แบบฯ ปรากฏว่า นาย ว. มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวน 831,600 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 64,682 บาท จากห้างฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 นาย ว. ได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัท ช. ในฐานะ พนักงานของห้างฯ ซึ่งเป็นกิจการในเครือของบริษัท ช. โดยห้างฯ ได้คำนวณมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นมูลค่า 1,263,946 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 216,120 บาท นาย ว. จึงขอคืนภาษีและชี้แจงเหตุผลในการขอคืนภาษีว่าใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมี มูลค่าเป็นศูนย์ ณ วันที่ได้รับและตนเองนำใบสำคัญแสดงสิทธิไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าพนักงานประเมิน เห็นว่า เงินได้จากมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ณ วันที่ได้รับและไม่ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากมิใช่เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ จึงนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้จากเงินเดือนของนาย ว. เป็นผลให้มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมจำนวน 90,295 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 03014400-25480616-001-00154 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ซึ่งนาย ว. ได้ชำระภาษีแล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 แต่ยังไม่ได้ ชำระเงินเพิ่ม
          นาย ว. อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 โดยชี้แจงว่า ณ วันที่ได้รับใบสำคัญ แสดงสิทธิยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากเป็นการออกให้เฉพาะตัว ยังไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และไม่มีการจำหน่าย ให้ประชาชน การขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์จึงได้รับยกเว้นภาษี สภ. จึงพิจารณาให้ปลดภาษีตามการประเมินราย นาย ว. โดยให้เหตุผลว่า "พิจารณาคำนวณภาษีให้ผู้อุทธรณ์ใหม่โดยไม่นำเงินได้จากการขายใบสำคัญแสดงสิทธิ (CK-W1) มารวม คำนวณภาษีและปรับปรุงการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตใหม่ ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้ชำระภาษีไว้เกินจึงพิจารณาปลดภาษี" ต่อมามี พนักงานและกรรมการของบริษัท ช. มายื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) จำนวน 25 ราย ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับนาย ว. จึง ได้ดำเนินการพิจารณาคืนภาษีโดยใช้ผลการพิจารณาอุทธรณ์ ราย นาย ว. เป็นแนวปฏิบัติ และมีพนักงานและกรรมการของ บริษัท ช. จำนวน 3 ราย ขอคืนภาษีในประเด็นดังกล่าว
แนววินิจฉัย          กรณีที่ห้างฯ ซึ่งเป็นกิจการในเครือของบริษัท ช. ได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ช. ให้แก่กรรมการและ พนักงาน (Corporate distribution) โดยผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิมีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ตามราคาที่กำหนดและใบสำคัญแสดงสิทธิ (CK-W1) สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ หากใบสำคัญแสดงสิทธิของบริษัท ช. มีราคาซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ มีการซื้อขายกันในท้องตลาดหรือมีมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิตามที่ระบุไว้ กรณีดังกล่าวถือได้ว่า ในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในใบสำคัญ แสดงสิทธิเป็นการได้รับเงินได้พึงประเมิน โดยให้ใช้ราคาเฉลี่ยของใบสำคัญแสดงสิทธิที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นราคาหรือค่าอันพึงมีของใบสำคัญแสดงสิทธินั้น เป็นเงินได้ของกรรมการและพนักงาน ผู้จ่ายเงินได้พึง ประเมินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จากมูลค่าใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าว และจะต้องนำเงินได้ พึงประเมินที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีที่ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าว ตามมาตรา 48 แห่ง ประมวลรัษฎากร           กรณีได้มีการคืนเงินภาษีให้กับกรรมการและพนักงานที่ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวโดยผิดพลาด ให้แจ้งส่งคืนเงินภาษี อากรที่ได้รับคืนไปตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด (แบบ ค. 31) ซึ่งหากกรรมการและพนักงานมิได้ส่งคืนเงินดังกล่าวภายในกำหนด เวลาที่ระบุไว้ในแบบ ค. 31 ก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ต่อไป
เลขตู้: 72/36479

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020