เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1
วันที่: 5 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(1)(2) มาตรา 56 มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) และลักษณะตราสาร 28. (ข)
ข้อหารือ           ในปี พ.ศ. 2535 นาย ก. ได้รับโอนอาคารพร้อมที่ดิน จำนวน 2 คูหา จากบุตรชาย มาเพื่อใช้ประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งในปี พ.ศ. 2540 นาย ก. ได้นำอาคารดังกล่าวมากั้นห้องเพื่อทำกิจการห้องให้เช่า และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาโดยตลอด ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2551 นาย ก. ได้ขายอาคารพร้อมที่ดินดังกล่าวไป นาย ก. จึงขอทราบว่า การขายอาคารพร้อมที่ดินดังกล่าว ต้องดำเนินการเพื่อเสียภาษีอย่างไรบ้าง และการขายอาคารพร้อมที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           กรณีนาย ก. ได้ทำนิติกรรมขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 นาย ก. มีภาระภาษี ดังต่อไปนี้
           1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก. ต้องนำเงินได้ที่ได้รับดังกล่าว มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) และ (2) ก็ได้ เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(8) ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร
           2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ นาย ก. ได้ขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินซึ่งได้รับโอนจากบุตรชายเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้ขายไปในปี พ.ศ. 2551 ระยะเวลาถือครองอสังหาริมทรัพย์เกิน 5 ปี การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
           3. อากรแสตมป์ ใบรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นใบรับ สำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ นาย ก. ในฐานะผู้ออกใบรับจึงต้องเสียอากรแสตมป์จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว
เลขตู้: 72/36308

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020