เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/139
วันที่: 9 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีนักท่องเที่ยวต่างประเทศนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร และอนุสัญญาไทย-สวิส
ข้อหารือ           การนำเงินบำนาญที่ได้รับจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยของ Mr. M ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยได้ขอหนังสือรับรองรับทราบการมีเงินได้จากต่างประเทศ เพื่อนำไปยื่นต่อสรรพากรต่างประเทศในการรับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 17 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธ์รัฐสวิส เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
แนววินิจฉัย           เงินบำนาญที่ได้รับในต่างประเทศดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย เมื่อนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ภายใต้อนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ซึ่งได้กำหนดเรื่องเงินบำนาญไว้ตามข้อ 17 และข้อ 18 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนั้น หากตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า Mr. M ไม่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรในประเทศไทย และไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย เงินบำนาญที่ได้รับจากรัฐบาลแห่งสมาพันธ์รัฐสวิส จึงจะเก็บภาษีได้แต่ในสมาพันธ์รัฐสวิสเท่านั้น
เลขตู้: 72/36325

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020