เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/359
วันที่: 19 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเกษตรกรมีเงินได้จากการเลี้ยงไก่ตามสัญญาซื้อขายไก่ประกันราคาราย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 40(2) มาตรา 40 ทวิ มาตรา 40(8) มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 8 ทวิ แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
ข้อหารือ           บริษัท B หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเกษตรกรมีเงินได้จากการเลี้ยงไก่ตามสัญญาซื้อขายไก่ ประกันราคา สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
           1. กรณีที่เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินและโรงเรือน และเป็นผู้จัดหาคนงานเพื่อมาเลี้ยงไก่นั้น เงินได้จากการขายไก่โต ที่เกษตรกรได้รับจากบริษัทฯ ตามสัญญาซื้อขายไก่ประกันราคา ถือเป็นเงินได้จากการเลี้ยงสัตว์ ตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
           2. ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเกษตรกร เกษตรกรมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและ สมควรได้หรือไม่
           3. หากเกษตรกรเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือสมควร เกษตรกรมีสิทธินำค่าอาหารไก่และดอกเบี้ยบัญชีสินเชื่อ ที่เกษตรกรได้ขอไว้กับธนาคาร มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ และ
           4. กรณีที่ผู้ขายอาหารไก่ตกลงชำระดอกเบี้ยวงเงินสินเชื่อของเกษตรกรแทนเกษตรกรนั้น ดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นเงินได้ พึงประเมินของเกษตรกรหรือไม่
แนววินิจฉัย           1. การที่เกษตรกรทำสัญญาซื้อขายไก่ประกันราคากับบริษัทฯ เพื่อรับลูกไก่มาเลี้ยง แล้วจึงขายคืนให้แก่บริษัทฯ เมื่อไก่โต ตามขนาดที่กำหนดไว้ในสัญญา เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างเลี้ยงสัตว์ เงินได้ที่เกษตรกรได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้าง ทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เกษตรกรมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ตาม มาตรา 42 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรมีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้ประกอบ กิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ เช่น ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดตั้ง สำนักงานในการประกอบกิจการโดยมีกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือเช่าบุคคลอื่นโดยมีหลักฐานการเช่า มีการลงทุนด้วยการจัดหา เครื่องใช้เพื่อเลี้ยงไก่ มีการจ้างลูกจ้างโดยมีหลักฐานการจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย มีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด. 1ก ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น เงินค่าตอบแทนที่เกษตรกร ได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตา มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
           2. หากมีหลักฐานมาแสดงได้ตามข้อ 1. เกษตรกรมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 75 ของเงินได้ อย่างไรก็ดี หากเกษตรกร สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่า มีค่าใช้จ่ายเกินกว่าร้อยละ 75 ก็มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ ตามความจำเป็นและสมควร ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
           3. เนื่องจากตามข้อ 3. ของร่างสัญญาซื้อขายอาหารสัตว์ได้กำหนดให้ผู้ซื้อ หมายถึง เกษตรกรผู้รับเลี้ยงไก่ เปิดบัญชี วงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อใช้ในการชำระเงินค่าอาหารไก่ให้แก่ผู้ขายอาหารสัตว์ และเมื่อผู้ขายอาหารสัตว์ได้รับเงินจาก ธนาคารตามวิธีการที่ตกลงกัน ให้ถือว่าเกษตรกรได้ชำระเงินค่าอาหารไก่แล้ว ดังนั้น ตามข้อสัญญาดังกล่าว เกษตรกรจึงเป็น ผู้ซื้ออาหารไก่ และในกรณีที่เกษตรกรเป็นผู้ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อชำระค่าอาหารไก่จริง โดยธนาคารมีสิทธิ ที่จะบังคับชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจากเกษตรกรได้โดยตรง กรณีดังกล่าวถือว่า ค่าอาหารไก่ และดอกเบี้ย เป็นค่าใช้จ่ายที่ เกษตรกรต้องจ่ายเพื่อการประกอบกิจการ และมีสิทธินำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเกษตรกรได้
           4. กรณีที่ผู้ขายอาหารไก่ตกลงชำระดอกเบี้ยวงเงินสินเชื่อซึ่งเป็นภาระของเกษตรกรที่ต้องชำระตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ ระหว่างเกษตรกรกับธนาคารนั้น ถือว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์ซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินและเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เกษตรกรจึงต้องนำมูลค่าของดอกเบี้ยที่ผู้ขายอาหารสัตว์ตกลงออกให้ มาถือเป็นเงินได้พึงประเมินในการ คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เลขตู้: 72/36344

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020