เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/93
วันที่: 7 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีอายุความการประเมิน และการส่งหนังสือแจ้งการประเมิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 88 และมาตรา 88/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ ได้ย้ายสถานประกอบการ จากเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ไปอยู่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานสรรพากร จึงเข้าตรวจสภาพกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ปรากฏว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการ เป็นตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) และรับขนสินค้า จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2543 บริษัทฯ ได้ถูกเพิกถอน การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 และถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 บริษัทฯ ไม่มีเอกสารให้ตรวจสอบเนื่องจากอยู่ในระหว่างปิดบัญชี เอกสารอยู่ที่สำนักงานบัญชี เจ้าพนักงานฯ จึงนัดให้บริษัทฯ ไปพบเพื่อให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารหลักฐาน แต่บริษัทฯ มิได้ไปพบเจ้าพนักงานฯ โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุขัดข้องแต่อย่างใด
           2. เจ้าพนักงานฯ ได้ยุติการตรวจสภาพกิจการเพื่อตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบ กิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่บริษัทฯ มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30)
           3. เจ้าพนักงานฯ ได้มีหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ ส่งมอบเอกสารให้ทำการตรวจสอบในวันที่ 14 สิงหาคม 2550 แต่บริษัทฯ มิได้ไปพบเจ้าพนักงานฯ และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 เจ้าพนักงานฯ ได้ตรวจสอบหลักฐานข้อมูลการจด ทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่า ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 บริษัทฯ มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 1649/275 ถนนรามคำแหง แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพนักงานฯ ได้ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 และเจ้าพนักงานฯ ได้นำส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปที่บริษัทฯ เขต ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ตามลำดับ ขอทราบว่า อายุความ ในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าวมีกำหนดกี่ปี และจะส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปยังที่ตั้งของบริษัทฯ แห่งใด
แนววินิจฉัย           1. กรณีตาม 1. การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2547 ถึง วันที่ 6 มีนาคม 2548 (ก่อนถูกเพิกถอน การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) กรณีบริษัทฯ มียอดขายสินค้าหรือให้บริการ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เจ้าพนักงานฯ มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
           กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2548 ถึงเดือนภาษีกรกฎาคม 2550 (ภายหลังถูกเพิกถอน การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดเวลาในการประเมินภาษีตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจนำมาใช้กับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้ได้ เมื่อประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดเวลาในการประเมินภาษีในกรณีนี้ไว้ จึงต้องใช้กำหนดเวลาตามอายุความทั่วไป ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเก็บค่าภาษีอากรได้ภายใน 10 ปี
           2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้ย้ายสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่จากเลขที่ 2 ซอยลาดกระบัง 1 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ไปอยู่เลขที่ 1649/275 ถนนรามคำแหง แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร (ข้อมูล การจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2550) แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 เจ้าพนักงานฯ ได้ออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบุว่า สถานประกอบการตั้งอยู่เลขที่ 2 ซอยลาดกระบัง 1 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมิน ตามที่อยู่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 เนื่องจากกรณีดังกล่าว สท.21 ได้ตรวจปฏิบัติการ เฉพาะประเด็น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ณ สถานประกอบการเดิมของบริษัทฯ แต่บริษัทฯ มิได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้ เจ้าพนักงานฯ ทำการตรวจสอบ เจ้าพนักงานฯ มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88 มาตรา 88/4 และมาตรา 88/5 แห่ง ประมวลรัษฎากร โดยต้องปฏิบัติตามข้อ 42.2 ของ ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2550 โดยออกหนังสือแจ้งการประเมินตามที่อยู่ใหม่ของบริษัทฯ ตามบันทึกที่ กค 0726/ว.604 ลงวันที่ 25 มกราคม 2551 ประกอบกับ ข้อ 18.2 ของตารางการระบุชื่อและที่อยู่ในหนังสือแจ้งภาษีอากร หรือ หนังสืออื่นๆ และให้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินตามมาตรา 8 แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 39 ของระเบียบกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 72/36322

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020