เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702พ./2693
วันที่: 3 เมษายน 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2(1) มาตรา 77/1(18)(ค) มาตรา 83/6(1) มาตรา 86/4 มาตรา 82/3 มาตรา 89/1 มาตรา 90(5) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศกรมสรรพากรฯ อัตราแลกเปลี่ยนฯ
ข้อหารือ          ห้างฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ประกอบกิจการขายปลีกและขายส่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดผง ภายในประเทศและต่างประเทศ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ห้างฯ สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท A. ซึ่ง ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำคำสั่งซื้อและโอนเงินชำระค่าสินค้าล่วงหน้าเป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อบริษัท ค. ได้รับเงิน แล้วจะสั่งให้บริษัท ฟ. (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ค. ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อและส่งมอบสินค้า ให้ห้างฯ โดย ห้างฯ ไม่ได้รับเอกสารใดๆ ทั้งสิ้นจากบริษัท ค. ในไทย ภายหลังจากห้างฯ ได้รับสินค้าแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์ บริษัท ค. จะส่งใบแจ้งหนี้ (Invoice) มาให้ ห้างฯ จึงไม่มีหลักฐานการนำเข้าสินค้าและไม่ได้ชำระภาษีซื้อ เมื่อห้างฯ จำหน่ายสินค้าให้กับ ลูกค้า ห้างฯ ได้ออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายทุกเดือน จึงขอหารือดังนี้
          1. ห้างฯ ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนบริษัท A. ที่อยู่นอกราชอาณาจักร ตามแบบ ภ.พ.36 หรือไม่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ห้างฯ นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 ย้อนหลังตั้งแต่เดือนภาษีพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2551 ห้างฯ นำมาใช้เครดิต ภาษีขายในแบบ ภ.พ.30 ได้หรือไม่ อย่างไร
          2. อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าสินค้าเป็นเงินสกุลไทยใช้อัตราใด วันใด
          3. ห้างฯ ของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ค่าปรับอาญา จากการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ย้อนหลัง ตั้งแต่เดือน ภาษีพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2551
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1. และ 3. ห้างฯ สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท A ซึ่งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้บริษัท ค. ในไทย ผลิตสินค้า ตามคำสั่งซื้อและส่งมอบสินค้าให้ห้างฯ การซื้อขายสินค้าระหว่างห้างฯ กับบริษัท ค. เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าได้มีการส่งมอบสินค้าในราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อห้างฯ จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้กับบริษัท ค. ห้างฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท ค. มีหน้าที่ เสียภาษี ในอัตราร้อยละ 7.0 โดยห้างฯ ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวด้วยแบบ ภ.พ.36 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือน ของเดือนที่จ่ายเงิน ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ห้างฯ ได้นำส่งดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อในการ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวถือเป็นใบกำกับภาษี ซึ่งห้างฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในเดือนที่มีการนำส่งภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(18)(ค) มาตรา 86/4 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          กรณีห้างฯ มิได้หักและนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท ค. มีหน้าที่เสีย ห้างฯ ต้องรับผิดร่วมกันกับบริษัท ค. ในการเสีย ภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง พร้อมทั้งเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ที่ต้องนำส่ง ตามมาตรา 83/6 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร เงินเพิ่มดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้งดหรือ ลดได้ รวมทั้งห้างฯ ต้องระวางโทษปรับกรณีไม่ได้นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 90(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ
          2. กรณีตาม 2. ห้างฯ จะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งตาม 1. โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงิน ตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
เลขตู้: 72/36526

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020