เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6419
วันที่: 11 สิงหาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. ก. เป็นพนักงานของบริษัท บ. (บริษัทฯ) เมื่อปี 2551 บุตรของ ก. ได้รับทุนจากบริษัทฯ เพื่อศึกษาในโครงการ เยาวชนเอเอฟเอส ของมูลนิธิ ศ.(มูลนิธิฯ) ระยะเวลา 1 ปี (2552-2553) ทั้งนี้ ตามสัญญารับทุนโครงการเยาวชนเอเอฟเอส สัญญารับทุนฯ ฉบับดังกล่าว ก. ได้ตกลงว่า ระหว่างที่บุตรได้รับทุน จะปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับจากวันที่บริษัทฯ ได้ชำระเงินให้แก่มูลนิธิฯ
          2. ก. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นจำนวน 110,160 บาท จากทุนการศึกษาของบุตรจำนวน 410,000 บาท เมื่อปี ภาษี 2551 ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ก. มีเหตุจำเป็นต้องลาออกจากงาน จึงได้ชดใช้เงินทุนการศึกษาดังกล่าวคืน ให้แก่บริษัทฯ และได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงรายได้ของปีภาษี 2552 เพื่อขอคืนภาษีจำนวน 110,160 บาท แต่บริษัทฯ ปฏิเสธ โดยอ้างว่า ก. เป็นฝ่ายผิดสัญญารับทุน
          3. ก. ขอนำหลักฐานใบรับเงินการจ่ายคืนทุนการศึกษาให้แก่บริษัทฯ มาใช้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นส่วนลดของเงินได้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2552 เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้ตาม 2. ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณี ก. ได้รับทุนการศึกษาของบุตรจากบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่ง ก. ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีที่ได้รับ (ปี 2551) และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
          กรณีที่ ก. ผิดสัญญาการรับทุน เป็นเหตุให้ต้องชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนให้แก่บริษัทฯ และ ก. จะขอนำหลักฐาน ใบรับเงินการจ่ายคืนทุนการศึกษาให้แก่บริษัทฯ มาใช้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นส่วนลดของเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2552 เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้กระทำได้ อย่างไรก็ดี หาก ก. ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่บริษัทฯ แล้ว ย่อมเป็นกรณีที่ ก. ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสีย จึงมี สิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36782

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020