เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7438
วันที่: 10 กันยายน 2552
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีค่าติดตามหนี้ของกิจการธนาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ และบริษัทที่เกี่ยวข้อง มีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ค่าติดตามหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้า กรณีธนาคารให้สินเชื่อแก่ลูกค้าทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 2 ลักษณะ ดังนี้
               1.1 ธนาคารมีสัญญาให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้า โดยธนาคารให้วงเงินกู้ยืมตามจำนวนที่กำหนดในสัญญา พร้อมทั้งให้บัตรอีเล็คทรอนิกส์แก่ลูกค้าเพื่อเบิกเงินจากตู้ ATM ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการกู้ยืมภายในวงเงินที่ระบุในสัญญา ทั้งนี้ ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากลูกค้าตามจำนวนเงินที่ลูกค้าเบิกถอน
               1.2 ธนาคารมีสัญญาให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้า โดยธนาคารส่งมอบเงินต้นทั้งจำนวนตามที่กำหนดไว้ใน สัญญากู้ยืมให้แก่ลูกค้าและคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นดังกล่าว
          2. กรณีลูกค้าผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น ไม่ชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารตาม ระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารต้องติดตามทวงถามให้ลูกค้าชำระหนี้โดยว่าจ้างให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้ธนาคารมีภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าจ้างบุคคลภายนอก ซึ่งธนาคารจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้จาก ลูกค้าต่อไป บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า ค่าติดตามทวงหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้า มิใช่ค่าธรรมเนียมหรือ ค่าบริการที่ธนาคารเรียกเก็บโดยตรงจากลูกค้าผู้ใช้บริการอันเกี่ยวกับกิจการธนาคร แต่เป็นรายรับจากกิจการ ที่มิใช่กิจการเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการธนาคาร ธนาคารจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 91/4(1) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย          กรณีลูกค้าของธนาคารไม่ชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารตามระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารจึงต้อง ติดตามหนี้จากลูกค้า ค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้าเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่มี ลักษณะคล้ายคลึงกับดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการจากการให้กู้ยืมเงินหรือเกี่ยวเนื่องกับการให้ กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36851

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020