เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/10436
วันที่: 21 ธันวาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 375)
ข้อหารือ          บริษัทฯ แจ้งว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่นในลักษณะทรัพย์สิน ในการประกอบกิจการบริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้เพื่อนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้รับเงินปันผล หรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งการลงทุนดังกล่าวบริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหุ้น บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยเข้าใจว่า
          1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหลักทรัพย์มา ถือว่าหลักทรัพย์นั้นไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
          2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่บริษัทฯ มีกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ดังกล่าวถือเป็นวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพ พร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน แต่บริษัทฯ จะต้องนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้อง ห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
          บริษัทฯ ขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ข้างต้นถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในบริษัทอื่นเพื่อหาผลประโยชน์ อันเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน ราคาหุ้นที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาดังกล่าวถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินนั้น
          ส่วนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาซื้อหุ้นดังกล่าว หากการซื้อหุ้นเป็นการดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือ เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้บริษัทฯ ปฏิบัติดังนี้
          1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สิน หรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
          2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยบริษัทฯ จะต้องไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไม่หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92)ฯ ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 72/37068

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020