เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/10979
วันที่: 12 ธันวาคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทต่างประเทศให้บริการข้อมูลทางการเงินและข่าวสารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 66 วรรคสอง มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 76 ทวิ มาตรา 80/1(2) มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 83/6(2) และมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           กรณีบริษัทต่างประเทศให้บริการข้อมูลทางการเงินและข่าวสารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
          1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตข้อมูลและข่าวสารทางการเงินอย่างครบวงจรให้แก่บริษัท ABC (ABC) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา โดย ABC จะใช้ข้อมูลและข่าวสารที่ได้รับจากบริษัทฯ เพื่อไปนำไปให้บริการข้อมูลและข่าวสารทางการเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ซึ่งรวมถึงบริการ (XYZ )
          2. สาขาฯ ให้บริการแก่บริษัทฯ และ ABC ดังนี้
               2.1 ส่งข้อมูลและข่าวสารที่รวบรวมได้ให้แก่บริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ ทบทวน ตรวจทาน แก้ไข และประมวลผล ให้แก่ ABC ต่อไป
               2.2 ให้บริการแก่ ABC โดยช่วยนำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่รวมอยู่ในบริการ XYZ และสาธิตผลิตภัณฑ์และฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับบริการ XYZ ให้แก่ลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบันของ ABC
               2.3 ให้ ABC เช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงบริการ XYZ
               2.4 ให้บริการแก่ ABC โดยว่าจ้างผู้รับจ้างช่วงให้ทำการติดตั้งและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ให้ ABC เช่า บริษัทฯ ขอทราบว่า บริษัทฯ โดยสาขาฯ และ ABC มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร
แนววินิจฉัย           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
               1.1 บริษัทฯ ประกอบธุรกิจในประเทศไทยผ่านสาขาฯ โดยนอกจากสาขาฯ จะมีหน้าที่จัดหาข้อมูลและข่าวสารทางการเงินให้แก่บริษัทฯ แล้ว สาขาฯ ยังให้บริการอื่นๆ แก่ ABC อีกด้วย ซึ่งไม่เข้าลักษณะกิจกรรมอันเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบตามความหมายของข้อ 5 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาฯ และเข้าลักษณะการประกอบธุรกิจโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น เงินได้หรือกำไรของบริษัทฯ เฉพาะส่วนที่ถือว่าเป็นของสาขาฯ ทั้งหมด จึงต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ซึ่งรวมถึงเงินได้ดังนี้
                    (1) ค่าตอบแทนจากการให้บริการแก่ ABC ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
                    (2) ค่าตอบแทนจากการให้บริการแก่บริษัทฯ ที่สาขาฯ ควรจะได้รับโดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนที่สาขาฯ จะเรียกเก็บจากบุคคลที่สาม เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะการบริหารและจัดการทั่วไป ตามข้อ 7 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งวิสาหกิจผู้ให้บริการสามารถจัดสรรหรือปันส่วนค่าใช้จ่ายในจำนวนที่เหมาะสมให้ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงโดยไม่คิดส่วนเพิ่ม
               1.2 ABC ประกอบธุรกิจการให้บริการข้อมูลและข่าวสารทางการเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง XYZ ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าทั่วโลกรวมถึงลูกค้าในประเทศไทย หาก ABC ให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยลูกจ้างหรือบุคลากรอื่นที่อยู่ภายใต้การควบคุม การกำกับ หรือการดูแลของ ABC ไม่ว่าลูกจ้างหรือบุคลากรอื่นนั้นจะจัดหาโดย ABC โดยทางตรงหรือทางอ้อม การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะการประกอบธุรกิจผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสาม (ข) แห่งอนุสัญญาฯ หากการให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินติดต่อกัน (สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่อง) ภายในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน ในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ และสถานประกอบการนั้นดำรงอยู่ในประเทศไทยในปีภาษีใดๆ ของการให้บริการนั้นเป็นระยะเวลาเดียวหรือหลายระยะเวลารวมกันอย่างน้อย 30 วัน ในปีภาษีนั้น ABC ต้องนำเงินได้หรือกำไรที่เกิดจากการให้บริการในประเทศไทยมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
               2.1 หากการให้บริการโดยสาขาฯ แก่บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
               2.2 การให้บริการโดยสาขาฯ แก่ ABC เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร สาขาฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
               2.3 การจ่ายค่าบริการสำหรับการให้บริการข้อมูลและข่าวสารทางการเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง XYZ ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตโดย ABC แก่ลูกค้าในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการซึ่งให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ลูกค้าในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
               2.4 การจ่ายค่าบริการสำหรับการให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ โดย ABC แก่ลูกค้าในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ดังนั้น หาก ABC ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ลูกค้าในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38395

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020